หน้าแรก

ด้วยประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่กับการทำไร่อ้อยมานานหลายสิบปี ทั้งการเป็นผู้ช่วยผู้จัดการไร่มิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี การโกอินเตอร์ไปเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลมิตรลาว ที่ สปป.ลาว อยู่เกือบ 3 ปี จนปี พ.ศ. 2554 ได้กลับมารับตำแหน่งผู้ชำนาญการด้านเครื่องมือเกษตร ทำให้พี่นิเวศ ไอรอนแมนรุ่นเก๋า วัย 46 ปีคนนี้ ได้เป็นตัวเลือกแรก ๆ ของทีมบุกเบิกการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ซึ่งช่วงนั้นพี่นิเวศได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบโมเดิร์นฟาร์มมาหลายแห่ง เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่เพาะปลูกอ้อยในประเทศไทย

จากการเปิดโลกทัศน์เรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ทำให้พี่นิเวศได้เห็นถึงความแตกต่างของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบโมเดิร์นฟาร์มดังนี้

"การทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มที่ผมได้ไปดูงานมานั้น ความแตกต่างที่ชัดเจนกับการทำไร่อ้อยแบบเดิมของเราคือ เรื่องการนำเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ อย่างพวกรถแทรกเตอร์แรงม้าสูง ๆ หรือพวกรถตัดอ้อย มาใช้ทดแทนแรงงานคนการให้ความสำคัญกับระบบชลประทานการให้น้ำ รวมถึงเรื่องการปรับปรุงคุณภาพดินซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการปลูกอ้อย"พี่นิเวศ มนุษย์ชุดเขียวรุ่นแรกได้พูดคุยแลกแบ่งปันประสบการณ์ ที่ได้จากการไปเรียนรู้ให้กับเรา ซึ่งพี่นิเวศได้สรุปสั้น ๆ ถึงข้อดีของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มว่า "สิ่งที่ประทับใจที่สุดของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบโมเดิร์นฟาร์มคือ หนึ่งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตรที่สามารถนำมาใช้ทดแทน และได้งานมากกว่าเครื่องมือแบบเดิม ๆ ที่เราใช้กันอยู่ถึง 3-4 เท่า สองคือ เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย ที่ช่วยในเรื่องการไถลึก เครื่องมือเดิมที่เราใช้กันอยู่ไถลึกได้แค่ 25-30 เซนติเมตร แต่เครื่องมือแบบโมเดิร์นฟาร์มไถได้ลึกกว่าถึง 40-50 เซนติเมตร ความลึกที่พอเหมาะนี้ช่วยระเบิดชั้นดินดาน ทำให้รากอ้อยเจริญเติบโตได้ลึก หาอาหารได้มากขึ้น ช่วยให้อ้อยทนแล้ง ไว้ตอได้นานขึ้น สามคือการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม เขาใส่ใจกับการบำรุงดินมากขึ้น ไม่ปลูกอ้อยเพียงอย่างเดียว แต่มีการปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดินให้ดินดีขึ้นด้วย"

ซึ่งพี่นิเวศได้นำวิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบโมเดิร์นฟาร์ม มาทดลองใช้ที่ไร่อ้อยของมิตรผล ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อปรับเทคนิคให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศของประเทศไทย จนเกิดผลสำเร็จเป็นการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม โดยหน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งของพี่นิเวศหลังจากจบหลักสูตรไอรอนแมน คือการส่งต่อความรู้เรื่องการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มให้กับชาวไร่อ้อยคนอื่น ๆ ครับ

"ส่วนใหญ่ชาวไร่อ้อยที่ให้ความสนใจกับหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มคือ ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ ๆ โดยเฉพาะชาวไร่รายใหญ่ที่มีรถตัดอ้อยเป็นของตัวเอง" พี่นิเวศ เล่าให้เราฟังถึงครั้งแรกที่ชาวไร่อ้อยรู้จักคำว่ามิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

"ตอนนั้นชาวไร่อ้อยรายใหญ่ที่ใช้รถตัดอ้อย เจอปัญหาเรื่อง ดินแน่น เพราะน้ำหนักรถตัดไปกดทับ ทำให้ดินซึมซับน้ำได้น้อย ผมลองเอาหลักสี่เสาเรื่อง การควบคุมแนวล้อวิ่งของรถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลไปแนะนำ ทำให้ตอนนี้ชาวไร่หลายรายก็เริ่มปลูกอ้อยห่างกันมากขึ้น ส่วนชาวไร่อ้อยรายเล็กนั้น เขาสนใจการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแต่ติดที่ไม่มีเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ ผมก็ลองให้เขามาศึกษาหลักการไปใช้ อย่างเช่นเรื่องการเตรียมดินให้มีความลึกพอเหมาะเช่นการเปลี่ยนผานไถสามจานเป็นริปเปอร์ เรื่องการปลูกถั่วพักดินที่ชาวไร่กลัวเสียเวลา ผมก็พาไปดูที่ไร่ของบริษัทให้เปรียบเทียบกันเลยว่าผลผลิตที่ได้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง"

พี่นิเวศจะใช้วิธีพาชาวไร่อ้อยมาดูแปลงสาธิตที่ไร่อ้อย ของมิตรผล แล้วอธิบายให้ความรู้โดยเป็นวิทยากรเอง ที่ผ่านมามีมิตรชาวไร่มาดูงานแล้วมากกว่าพันคน โดยตัวอย่างของมิตรชาวไร่ที่เอาหลักการมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จก็เช่น คุณดิลก ภิญโญศรี มิตรชาวไร่อ้อยจากภูเขียว เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2559 สาขาอาชีพทำไร่ จากจังหวัดชัยภูมิ คุณพิมล สุภาพเพชร และ พ่อปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน ที่จัดการอบรมทำ Workshop แลกแปลี่ยนความรู้กันอยู่เสมอ นอกจาก นายกฯ หนึ่ง คุณสิทธิบูรณ์ รัชตะสุวิโรจน์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยที่ราบสูงจังหวัดเลย ที่ถึงกับส่งลูกชายมาเรียนเป็นการส่วนตัวกับพี่นิเวศ เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อเอามาใช้ปรับกับไร่อ้อยของตัวเอง ก่อนจากกันพี่นิเวศได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการทำไร่อ้อยให้ยั่งยืน ตามหลักเกษตร 4.0 ด้วยว่า "การทำไร่อ้อยให้ยังยืนนั่น ต้องผสมผสานกันทั้งการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ยึดตามสี่เสาหลักในการทำงานการจัดการภายในไร่ โดยมีการบริหารจัดการน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ชาวไร่อ้อยที่สนใจ ผมแนะนำให้มาดูไร่สาธิตที่มิตรผลก่อน ว่าอะไรที่ ทำแล้วได้ผล อะไรที่เอาไปปรับใช้ได้ ศึกษา เรียนรู้เอาหลักการไปใช้ สิงที่ มิตรชาวไร่ทำแล้วได้ผลดีอยู่แล้ว ก็ยังไม่ต้องเปลี่ยนตอนนี้ แต่อยากให้มีการวัดและสรุปผลทุกปี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทีมส่งเสริม และเจ้าหน้าที่ไร่บริษัทที่มีความชำนาญ จะได้เห็นการพัฒนาการเปลี่ยนแปลง ซึ่งตรงนี้ จะทำให้เราสามารถพัฒนาไปข้างหน้าด้วยกันได้อย่างยั่งยืนครับ"

ข่าวปักหมุด