หน้าแรก

จากปัญหาอ้อยแล้งข้ามปี ทำให้มิตรชาวไร่หลายท่านเริ่มขยับขยายมองหาวิธีรับมือกับปัญหาน้ำขาดแคลนกันอย่างจริงจัง การทำอ้อยน้ำราดมีข้อมูลจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองและได้ประโยชน์แต่เพียงเล็กน้อย ส่วนวิธีที่คุ้มค่าที่สุด ที่มีการใช้กันในปัจจุบัน คือ ระบบน้ำหยดบนดินที่ใช้น้ำน้อยกว่า อ้อยสามารถดูดซึมไปใช้ได้ถึง 95% ซึ่งต่างจากการให้น้ำวิธีอื่นที่อ้อยสามารถนำไปใช้ได้เพียงแค่ 50% เท่านั้น วิธีการให้น้ำของระบบ คือ จะค่อย ๆ ให้น้ำหยดลงไปในดิน โดยมีอัตราขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่อ้อยต้องการน้ำในแต่ละช่วงวัย และข้อมูลความชื้นในดินเพื่อทำให้ดินยังคงรักษาความชื้นไว้ได้ในปริมาณที่อ้อยต้องการ มิตรชาวไร่บางราย ยังหันมาเปลี่ยนวิธีการให้ปุ๋ย หันมาใช้ปุ๋ยน้ำไปพร้อมกันในคราวเดียวกับน้ำหยดอีกด้วย

มิตรชาวไร่ที่เปลี่ยนระบบการให้น้ำอ้อยจากระบบอื่น ๆ มาใช้ระบบน้ำหยดบนดิน คงจะค่อย ๆ คุ้นเคยกับระบบท่อวางยาว บนแปลงอ้อยซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงน้ำตลอดจนปุ๋ยน้ำให้ไปถึงอ้อย โดยลดอัตราการสูญเสียน้ำที่พืชไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีโดยสามารถวางท่อครั้งเดียว ไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายตลอดฤดูการผลิต อย่างไรก็ตามในระบบน้ำหยดผิวดินยังมีอุปกรณ์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก และทำให้การให้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกว่า เครื่องมือวัดความเครียดเมตริกของความชื้นในดิน หรือ เทนซิโอมิเตอร์ (Tensiometer)

ความเครียดเมตริกของความชื้นในดินเกิดจากการที่อนุภาค ของดินดูดยึดความชื้นไว้ที่ผิว และในช่องว่างขนาดเล็กในดิน ซึ่งมีผลถึงความยากง่ายของรากอ้อย ในการดูดน้ำจากดินไปใช้ โดยถ้ามีข้อมูลปริมาณน้ำในดินเพียงอย่างเดียว เพื่อนมิตรชาวไร่จะไม่ทราบว่า น้ำในดินขณะนั้นมีระดับความเป็นประโยชน์ต่ออ้อยมากน้อยแค่ไหน จึงจำเป็นต้องบอกเป็นระดับความเครียดของน้ำในดิน จะทำให้ทราบถึงประโยชน์ของน้ำในดินต่ออ้อยในช่วงนั้นๆ

เทนซิโอมิเตอร์ มีรูปร่างเป็นแท่งยาว 30 และ 60 เซนติเมตร มีส่วนประกอบ 4 ชิ้นส่วน คือ

  1. กระเปาะเซรามิค (Porous Ceramic Cup) จะฝังอยู่ ในดินระดับความลึกที่ต้องการวัดความเครียดของน้ำในดิน เช่น 30 เซนติเมตร หรือ 60 เซนติเมตร
  2. ท่อกลวง เชื่อมระหว่างกระเปาะดินเผากับเครื่องวัดความเครียด
  3. เครื่องวัดความเครียด ซึ่งมีอยู่หลายแบบคือ เกย์สูญญากาศ (Vacuum Gauge) มาโนมิเตอร์ปรอท (Mercury Manometer) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ก็ได้
  4. ฝาปิด เป็นทางเติมน้ำและไล่อากาศออกจากเทนซิโอมิเตอร์ ขณะใช้งานส่วนต่าง ๆ

วิธีการใช้ก็เพียงปักลงไปในดินตามจุดบนแปลงอ้อยทุก ๆ ระยะ 5-10 เมตร สาเหตุที่ต้องเป็นแท่งปักไปในดิน 2 อัน ที่ความลึก 30 กับ 60 เซนติเมตร เพื่อตรวจสอบความชื้นในดินเปรียบเทียบกัน โดยมีค่าระหว่าง 0-90 เซนติบาร์

ค่า 0 คือ มีความชื้นเปียกมาก ดินอิ่มตัวด้วยน้ำ ยิ่งเลขมากขึ้น ยิ่งหมายถึงดินมีความชื้นลดลง หรือแห้งมากยิ่งขึ้นโดยจะส่งข้อมูลให้เซ็นเซอร์ควบคุม ซึ่งจะเริ่มให้น้ำเมื่ออ่านได้ค่ามากกว่า 40 ขึ้นไป

เครื่องมือที่ดูเรียบง่ายนี้ มีประโยชน์และจำเป็นต่อระบบน้ำหยดผิวดินมากกว่าที่หลายคนคิด โดยเพื่อนมิตรชาวไร่สามารถใช้เทนซิโอมิเตอร์วัดแรงดึงความชื้นของดินเพื่อกำหนดตารางและปริมาณการให้น้ำชลประทานแก่อ้อยได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำเทนซิโอมิเตอร์ ไปเชื่อมต่อกับระบบเซนเซอร์ เพื่อควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำได้อย่างได้ผลเพราะสามารถเติมน้ำได้ถูกช่วงเวลา และในปริมาณที่เหมาะสม ตามที่อ้อยต้องการ

แม้จะไม่ได้แพงจนเกินซื้อหา เพื่อให้อายุการใช้งานของ เทนซิโอมิเตอร์ ยาวนาน คุ้มค่าแก่เงินที่ลงทุน มิตรชาวไร่ควรต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษา เทนซิโอมิเตอร์ โดยมีวิธี ที่ทำได้ เช่น หยดสารไอโอดีนสีม่วง เพื่อป้องกันการเกิดตะไคร่น้ำภายในหลอด หากปักไว้ในดินเป็นระยะเวลานาน ควรทำความสะอาดปลายกระเปาะเซรามิคด้วยการขัดด้วยกระดาษทรายละเอียด เพื่อปลายกระเปาะเซรามิคมีความสามารถในการดูดซึมน้ำที่ดีขึ้น

หากว่าทำได้ตามนี รับรองว่าเทนซิโอมิเตอร์ของมิตรชาวไร่ ทั้งหลายจะมีสภาพสมบูรณ์ คอยเตือนมิตรชาวไร่เวลาดินเริ่มแห้ง รวมถึงทำประโยชน์อื่น ๆ ให้ไร่อ้อยของเราต่อไปได้ อีกนานเลยล่ะครับ

ข่าวปักหมุด