หน้าแรก

หลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นหลักชัยให้กับปวงพสกนิกร-ธุรกิจไทยตลอดรัชสมัยแห่งการครองราชย์กว่า 7 ทศวรรษ เมล็ดพันธุ์-แนวทางแห่งการทรงงาน ปกแผ่ทั่วทั้งแผ่นดินทั้งเกษตรกร-ชาวนา-พ่อค้า ต่างได้ขยายแปลงผลผลิต นำดอก-ผล เผยแพร่ต่อยอด จากผลิตภัณฑ์ไทย-สู่การค้าระดับโลก

อภิปรัชญาที่ผ่านการวิจัย ค้นคว้า ตั้งแต่ดิน-น้ำ-ฝนและฟ้า และหลักธรรมเรื่อง “ความเพียร” เป็นสะพานเชื่อมให้เกิดการทำงานไปสู่เป้าหมาย และมีความสำเร็จ พระอัจฉริยภาพในการทรงงาน ถูกกล่าวขานเป็น “ศาสตร์แห่งพระราชา”ที่นักธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างรับสนองพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้า 1 ธุรกิจนั้นคือ “กลุ่มมิตรผล” เจ้าของกิจการโรงงานน้ำตาลที่ยึดโยงกับเกษตรกร ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนถึงระดับองค์กรเครือข่ายธุรกิจอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมน้ำตาล

“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลั่นความคิดชีวิตธุรกิจ กว่า 6 ทศวรรษ ของบริษัทน้ำตาลใต้ร่มพระบารมี

หลัก “ห่มดิน” ล้างพิษไร่อ้อย

เมื่อ 60 ปีก่อน ที่การทำการเกษตรยังอาศัยแรงงานมนุษย์เป็นหลัก ยังไม่มีการรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเกษตร เกษตรกรจึงเพาะปลูก แต่ไม่ได้คำนึงการดูแลบำรุงดิน ช่วงแรก ๆ ดินยังมีความอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตดี แต่หลังจากนั้นต้องใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่ม ขณะเดียวกันชาวไร่อ้อยบางรายยังทำลายดินโดยการเผาใบอ้อย อุตสาหกรรมนี้จึงโดนโจมตีว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม เราเริ่มรู้สึกว่า ไม่ใช่แล้ว ตอนนั้นไปดูงานจากหลากหลายประเทศ ทั้งออสเตรเลีย บราซิล เราได้ค้นพบว่าการที่จะทำให้ดินไม่เสื่อมสลายไปเร็ว ต้องใช้ทั้งใบ กาบ เป็นผ้าห่มคลุมดิน ไม่ให้ดินขาดความชุ่มชื้นและรักษาหน้าดิน ไม่ให้เผาใบอ้อย เราจึงได้รวบรวมองค์ความรู้จนพัฒนามาเป็น “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” หรือ ทฤษฎี 4 เสาหลัก ได้แก่ ปลูกพืชตระกูลถั่วลดการบดอัดหน้าดิน ไม่เผาใบอ้อยใช้แต่ใบอ้อยคลุมดิน ใช้ระบบชีวภาพเข้าไป ช่วงฤดูฝนมีการปล่อยแตนเบียนเข้าไป ทำให้ลดการใช้สารเคมี สุขภาพคนดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น ปัจจุบันได้ผลผลิตอ้อย 18-20 ตัน/ไร่ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องการห่มดิน และมิตรผลได้เผยแพร่ให้กับชาวไร่ในเครือข่าย

35,000 ครอบครัวหัวใจพอเพียง

ปัจจุบันมิตรผลมีชาวไร่ในเครือข่าย 35,000 ครอบครัว ได้ตั้งทีมงานไปฝึกอบรม น้อมนำพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประยุกต์ใช้ คือให้ปรับปรุงดินก่อน และให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากที่ปลูกอ้อย พืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ให้เพิ่มรายได้ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่เข้าไปเสริม และให้ปลูกอ้อยเท่าที่มีแรงงานและเครื่องมือทำได้ ไม่อย่างนั้นชาวไร่หลายคนจะกระโดดข้ามความพอเพียงไป ถ้าปีนี้ปลูกอ้อยได้ราคาดี…รวย ปีหน้าเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็นสิบเท่า เครื่องมือไม่พอ ดูแลไม่ทั่วถึง กลายเป็นต้องจ้างคนเพิ่ม ปีไหนราคาไม่ดีก็แย่ เราจึงชวนชาวไร่อ้อย 3-4 รายมารวมแปลงกันและใช้เครื่องมือไปช่วยปลูกอ้อย พรวนดินเพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ลูกหลานไม่อยากกลับมาทำไร่ เราพยายามดึงคนรุ่นใหม่กลับมา โดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่เข้าไปช่วย จึงเกิด “หนองแซงโมเดล” ใน 1 ปีลดค่าใช้จ่าย แบ่งผลประโยชน์และดูแลกันเอง ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

มิตรผลเป็นเพียงผู้ช่วย รวมถึงการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ สมัยก่อนใช้น้ำเปลืองก็ทำน้ำหยด และใช้โซลาร์เซลล์ มีปั๊มน้ำรอบคันบ่อ สามารถปลูกพืชผักสวนครัว โดยใช้ปรัชญาพระองค์ท่านเป็นแนวทาง การทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงเศรษฐกิจครัวเรือน

ขยายผลอภิปรัชญา “พอเพียง”

มิตรผลครบรอบ 60 ปี เมื่อปี 2559 จึงได้ทำโครงการพิเศษที่จะขับเคลื่อนชาวไร่รายเล็กเรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงได้ตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ มีโครงการนำร่อง 70 ศูนย์ หลังจากนั้นจะขยายไปถึง 700 ศูนย์ และครบ 7,000 ศูนย์ในอนาคตภายใต้ชื่อ “โครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะสุข”โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชาวไร่อ้อยขยายวงกว้างให้มีการทำเกษตรผสมผสานในครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนซึ่งเป็นแนวทางสร้างสุขให้ชาวไร่ได้อย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมกับชาวไร่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมให้ชาวไร่เกิดการรวมกลุ่ม หลังจากชาวไร่ใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยปลูกอ้อย ทำให้มีเวลาเหลือ เราหาคนที่มีความรู้จริงเข้าไปสอนเรื่องการแปรรูปผลผลิตต่างๆ และช่วยหาตลาดให้ด้วย อนาคตหากรวมกันได้อย่างเข้มแข็งอยากทำตลาดชุมชน หาพื้นที่ให้ชาวไร่รวมกันขาย ตอนนี้พอมีบ้างแต่ยังไม่เข้มแข็งพอ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายคือสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ดั่งปรัชญาการดำเนินงานของมิตรผล “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” และห้วงเวลาที่ผ่านมามิตรผลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “โครงการ 5 ประสานเกษตรทฤษฎีใหม่” ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐด้วย

หลักธงชัยเศรษฐกิจพ้นภัย

หลายครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ บริษัทได้น้อมนำพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการบริหารงานองค์กร เช่น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 บริษัทเผชิญกับภาวะหนี้สินทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินอย่างรุนแรง จนคิดว่าบริษัทอาจจะไปไม่รอด เราได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระบบบริหาร หลักคิดความพอประมาณ มีเหตุผล และสร้างภูมิคุ้มกัน การทำธุรกิจให้ยั่งยืน ต้องประเมินตนว่า อย่าทำมากจนเกินไป ไม่ให้มีความเสี่ยงสูง ก้าวไปทีละก้าว มีคุณธรรมเพราะจะทำให้คนอื่นนับถือเรา ศรัทธาในตัวเรา และจะทำให้ธุรกิจของเราอยู่รอด กำไรสูงสุดไม่ใช่นโยบายของเรา แต่เราต้องไม่โกง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันบริษัทได้นำหลักการทรงงาน ในหลวง รัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ทั้งชีวิต

ส่วนตัวและองค์กร เราต้องโตอย่างยั่งยืน มากกว่าที่จะโตแบบก้าวกระโดด โดยไม่มีเกราะป้องกัน เหมือนเวลาขึ้นบันได ถ้าเรากระโดดทีละขั้นสองขั้นตกลงมาขาแพลง เราก็จะเดินไม่ได้ไปหลายวัน แต่ถ้าก้าวขึ้นไปทีละขั้น จะมั่นคงและจะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนไม่ได้ ต้องคำนึงถึงส่วนรวมด้วย

ตามรอย “ภูพาน” ทรงงานจดค่ำ

“ความประทับใจครั้งยังเด็กผมจำความได้ ตอนเริ่มทำโปรเจ็กต์ใหม่ได้เป็นตัวแทนรับเสด็จในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ความรู้สึกตอนนั้นต้องรอนานตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่เมื่อทราบว่าพระองค์ท่านทั้งทรงงานเหน็ดเหนื่อยทั้งวัน กว่าจะได้พบราษฎรและไม่ได้เสวยอะไรเลย ความรู้สึกในการรอครั้งนั้น ทำให้รับรู้ได้เลยว่าเราต้องตามรอยพระบาท ในการขยันและอดทนตามแนวทางการทรงงานของพระองค์ท่าน”

หลักคำสอน พระราชดำรัส ของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นที่รับรู้ของคนทั้งโลก และจะยังคงดำรงอยู่คู่ปวงพสกนิกรชาวไทย ทุกหมู่เหล่าต่างสานต่อพระราชปณิธาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

ข่าวปักหมุด