หน้าแรก

ฤดูกาลส่งอ้อยเข้าหีบก็ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้วนะคะ อีกไม่กี่เดือนก็ต้องเตรียมพักดินปลูกถั่วสลับอ้อยตามหลักเสาที่ 1 ของ 4 เสาพลัสกันแล้ว ส่วนจะปลูกถั่วประเภทไหนก็ช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดินและช่วยตัดวงจรของโรคแมลง ได้ทั้งนั้น แต่ถ้าใครอยากปลูกถั่วเหลืองแล้วนึกไม่ออกว่าจะลงพันธุ์ไหนดี เชิญทางนี้ค่ะ เผื่อจะปิ๊งไอเดียขึ้นบ้าง

  1. นครสวรรค์ 1 ถั่วเหลืองสายพันธุ์นี้เหมาะสำหรับใช้เป็นพันธุ์ปลูกในเขตภาคกลาง มีลักษณะลำต้นอ่อนโคนต้นสีม่วงดอกสีม่วง เมื่อแก่ฝักมีสีน้ำตาล ฝักใหญ่เมล็ดโตกว่าพันธุ์มาตรฐานอื่น ๆ เมล็ดมีสี มีการนำมาปลูกครั้งแรกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ ในฤดูฝนปี 2524 และเมื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ พบว่าถั่วเหลืองพันธุ์นี้เจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ สจ.5 ในเขตภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ลพบุรี จึงตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า “นครสวรรค์ 1” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีอายุสั้นประมาณ 70-75 วัน อายุออกดอกประมาณ 26-30 วัน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 74-78 วัน ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ยประมาณ 310-350 กิโลกรัม/ไร่ หากปลูกต้นฤดูฝนหรือกลางฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูง

ข้อควรระวัง

ไม่ควรปลูกมากกว่าจำนวน 4 ต้น/หลุม ที่ระยะปลูก 50x20 ซม. จะทำให้ต้นล้มง่าย หลีกเลี่ยงในแหล่งปลูกที่มีโรคราสนิม โรคราน้ำค้าง และโรคแอนแทรคโนสระบาด

  1. เชียงใหม่ 2 สายพันธุ์นี้สามารถปลูกได้ดีในทุกพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองทั่วประเทศ ปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ดี มีลักษณะโคนต้นอ่อนสีม่วง ทรงต้นไม่ทอดยอด แตกกิ่งปานกลาง ใบกว้างเล็กและสั้นสีเขียว ดอกสีม่วง ฝักกลม ฝักแก่สีน้ำตาล เมล็ดค่อนข้างกลมสีเหลือง ขนที่ฝักสีน้ำตาลอ่อน ความสูงต้นเฉลี่ย 49 ซม. น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.6 กรัม ซึ่งจะมีอายุสั้นกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 เมื่อปลูกในต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน อายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 80 และ 72 วัน ให้ผลผลิตสูง 230-290 กก./ไร่ และต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดี
  2. ศรีสำโรง 1 เป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนามาจากพันธุ์นครสวรรค์ 1 ซึ่งทดลองปลูกโดยสถานีทดลองพืชไร่ศรีสำโรง จ.สุโขทัย เพื่อหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับแหล่งปลูกเขตภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.สุโขทัย กำแพงเพชร และตาก ต่อมาได้มีการนำไปทดลองปลูกและประเมินผลผลิตในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า สายพันธุ์ศรีสำโรงมีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้างได้ดีกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์นครสวรรค์ 1 ร้อยละ 33
  3. สจ.5 เป็นอีกสายพันธุ์ที่ปลูกได้ทั่วไปเนื่องจากเป็นการคัดพันธุ์แบบปรับตัวได้กว้าง ทนทานต่อโรคใบด่าง โรคราสนิม และโรคแอนแทรคโนส และทนต่อสภาพดินที่มีความชื้นสูง หรือดินแฉะในช่วงการปลูก ได้มากกว่าพันธุ์เชียงใหม่ 60 มีการเจริญเติบโตปรับตัวได้ดี ผลผลิตสูงสม่ำเสมอเฉลี่ย 320 กก./ไร่ โดยสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะลำต้นไม่ทอดยอด มีดอกสีม่วง ฝักแก่มีสีน้ำตาลเข้ม ตาหรือขั้วเมล็ดมีลักษณะเช่นเดียวกับพันธุ์ สจ.4 คือมีสีน้ำตาลอ่อน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 วัน

ข้อควรระวัง

ควรหลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์นี้ปลูกในเขตที่มีการระบาดของโรคใบจุดนูน

  1. เชียงใหม่ 60 เหมาะสมกับการปลูกในฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม และฤดูแล้ง ช่วงเดือนธันวาคม – กลางเดือนมกราคม ถั่วเหลืองพันธุ์นี้มีลักษณะลำต้นไม่ทอดยอด โคนต้นอ่อนสีเขียว ขนที่ฝักสีน้ำตาล ต้นมีการแตกกิ่งน้อย สูงประมาณ 60 ซม. ใบสีเขียวเข้ม กว้างและหนา ดอกสีขาว ออกดอกเมื่ออายุประมาณ 25 วัน เก็บเกี่ยวอายุประมาณ 97 วัน ฝักแก่จัดจะมีสีน้ำตาลเข้ม แตกยาก เมล็ดกลมสีเหลือง ขั้วเมล็ดมีสีน้ำตาล น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.5 กรัม ให้ผลผลิต 246 กก./ไร่ เมล็ดมีน้ำมัน 20% และโปรตีน 43.8% และมีความทนทานต่อโรคราสนิมและโรคราน้ำค้างได้ปานกลาง

ข้อควรระวัง

ไม่ทนน้ำขัง หากปลูกในฤดูแล้งควรให้น้ำก่อนปลูก แต่ไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในหลุมปลูก เพราะทำให้เมล็ดเน่าง่าย

  1. ขอนแก่น เป็นพันธุ์ปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงในสภาพการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเหมาะที่จะปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะการปลูกในฤดูแล้งที่มีการให้น้ำชลประทาน พันธุ์ขอนแก่นมีโคนต้นอ่อนสีม่วง ทรงต้นกึ่งทอดยอด ใบมีสีเขียว กลีบดอกสีม่วง ฝักแก่สีน้ำตาลดำ เปลือกเมล็ดสีเหลือง ขั้วเมล็ดน้ำตาลแดงเข้ม ขนสีน้ำตาล เมล็ดรูปร่างค่อนข้างรี น้ำหนัก 100 เมล็ด 15.0 กรัม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าพันธุ์ สจ.5 และเชียงใหม่ 60 คิดเป็นร้อยละ 16 และ 12 ตามลำดับ โดยให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 312 กก./ไร่ และในฤดูแล้งให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 356 กก./ไร่ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ สจ.5

ข้อควรระวัง

การปลูกในฤดูฝนจะให้ผลผลิตค่อนข้างแปรปรวน เนื่องจากมีการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ผลผลิตลดต่ำลงกว่าการปลูกในฤดูแล้ง

  1. เชียงใหม่ 6 อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่มีการปรับตัวได้ดีกับหลายสภาพแวดล้อม จึงปลูกได้ทั่วไป เช่น เหมาะจะปลูกใน จ.ขอนแก่น และเชียงใหม่ ช่วงฤดูแล้ง และปลูกได้ผลผลิตดีที่ จ.ลพบุรี และเลย ในช่วงฤดูฝน สำหรับสายพันธุ์เชียงใหม่ 6 มีลักษณะ โคนต้นอ่อนสีม่วง ทรงต้นกึ่งทอดยอด ใบมีสีเขียว รูปร่างใบกว้าง กลีบดอกสีม่วง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม เปลือกเมล็ดสีเหลือง สีตาน้ำตาล ลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม ขนสีน้ำตาลอ่อน น้ำหนัก 100 เมล็ด 13 - 15 กรัม เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย สูงกว่าพันธุ์ สจ.5 และ เชียงใหม่ 60 ในฤดูแล้งร้อยละ 12 และ 15 ในฤดูฝนร้อยละ 13 และ 12 มีความทนทานต่อโรคราสนิมสูงกว่าพันธุ์ สจ.5 และ เชียงใหม่ 60 และต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง

ข้อควรระวัง

ไม่ควรปลูกเกิน 3 ต้นต่อหลุม เนื่องจากจะทำให้ต้นสูงมากแล้วล้ม

ได้รู้จักกับถั่วเหลืองแต่ละสายพันธุ์แล้ว หวังว่ามิตรชาวไร่ทุกท่านจะเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตัวเอง เพื่อจะใช้ปลูกบำรุงดิน เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน ตามวิถีเกษตรสมัยใหม่ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนะคะ

ข่าวปักหมุด