หน้าแรก

จากชาวไร่มันสำปะหลังที่ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในเรื่องการเก็บเกี่ยวหัวมัน ปัญหาค่าแรงและต้นทุนการจัดการไร่ ทำให้พ่อบุญมี ทิพเจริญ มิตรชาวไร่คนเก่งแห่งเมืองน้ำดำ (กาฬสินธุ์) เริ่มถอดใจการทำไร่อ้อย แต่จังหวะดีที่ช่วงปี พ.ศ. 2540 โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ได้มาตั้งโรงงานในแถบกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด มีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเข้ามาแนะนำการปลูกอ้อยให้กับเกษตรกร พ่อบุญมีจึงหันกลับมาฮึดสู้อีกครั้ง โดยใช้เวลาศึกษา “อ้อย” อยู่พักใหญ่ จนมั่นใจ เห็นข้อดีและโอกาสของการปลูกอ้อย จึงเริ่มต้นชีวิตใหม่กับการทำไร่อ้อยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบันไร่อ้อยของพ่อบุญมีขยายแตะระดับหลักพันไร่ ผลผลิตดีงามเฉลี่ย 16 ตันต่อไร่ และ ส่งอ้อยเข้าหีบได้ถึง 16,000 ตัน เลยทีเดียว ซึ่งการดูแลไร่อ้อยหลักพันไร่นั้นไม่ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พ่อบุญมี เน้นการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้ามาช่วยผ่อนแรง

“การจัดการในไร่อ้อยพื้นที่มากขนาดนี้ เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ใช้แรงงานคนไม่ไหวหรอก ต้องอาศัยเครื่องมือเครื่องจักรเข้ามาช่วยทำงาน ทั้งรถไถ รถตัด วันนี้ต้องใช้เครื่องจักรมาเป็นกำลังหลัก ใช้กำลังคนเป็นแรงเสริม ไม่ต้องมีมากเหมือนแต่ก่อน สมัยก่อนที่ยังไม่มีเครื่องจักรเข้ามา ถ้ามีพื้นที่เยอะขนาดนี้ต้องใช้คนประมาณ 50 คน ตอนนี้สบายแล้ว ใช้คนเพียงแค่ไม่ถึง 20 คน ก็ทำไร่ได้ พ่อได้รถตัดอ้อยมาใช้ได้ 2 ปี ตัดได้ปีแรก 15,000 ตัน ปีต่อมาลดลงนิดหน่อยได้ 13,000 ตัน เพราะปัญหาอยู่ที่การจัดการ คนขับเรามีปัญหายังไม่พร้อมไม่มีความชำนาญ เลยตัดได้น้อยลง” พ่อบุญมีกล่าว

จากเดิมที่ใช้แต่กำลังคน พอเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร พ่อบุญมีจึงเดินหน้าเต็มสูบหันมาลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำไร่อ้อย ซึ่งก็ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ “เรามีรถไถ 106 แรง อยู่ 2 คัน รถไถ 90 แรงอยู่ 2 คันรถไถเล็ก 24 เเรงอีก 2 คัน รวมแล้วมี 6 คัน นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องมือเตรียมดินเป็นของเราเองหมดเลย และอย่างที่บอกเรามีรถตัดเป็นของเราเองอีก 2 คัน เครื่องมือทั้งหมดนี้เอามาใช้ในไร่ของเราก่อนงานเราเสร็จแล้วก็มีออกไปรับจ้างช่วยเพื่อนชาวไร่ที่อื่นบ้าง แปลงเล็กแปลงใหญ่ 70-80 ไร่บ้างก็ว่ากันไป แล้วแต่ช่วง เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีรถของเราเอง จะเจอปัญหาเรื่องการรอคิวรถตัด แต่พอซื้อรถแล้วเราก็ตัดเองได้ ไม่ต้องรอใคร ใช้เวลา 10 วันเร่งทำก่อนที่จะปิดหีบ ซื้อรถมาแล้วก็ทำให้สบายใจ แถมสบายแรงด้วย ผลผลิตที่ได้มากกว่า 16,000 ตัน นี่ก็มาจากรถตัดของเราเป็นหลัก มีส่วนที่ออกไปตัดให้ไร่คนอื่นบ้างแต่น้อย ก็น่าภูมิใจดีเหมือนกันนะ”

“อ้อยรถตัดนี่มันทำให้อะไรหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนไปเหมือนกันนะ เราไม่ต้องกังวลปัญหาว่าจะได้คิวอ้อยไหม  พร้อมแล้วเราก็ตัดเลย เมื่อก่อนถ้ายังไม่ได้คิวจะกังวลแล้วว่าทิ้งอ้อยไว้นานค่าความหวานจะลดไป อ้อยของพ่อจะหวานตอนเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ช่วงกุมภาพันธ์นี่จะสวยที่สุดเพราะอายุครบ 12 เดือน ต้องรีบตัดให้เสร็จ ไม่ปล่อยให้เลยมาต้นมีนาคม ซึ่งรถตัดจัดการให้พ่อได้ เราเลยสบายใจ”

พอมีรถตัดอ้อยเข้ามา สิ่งที่ต้องเตรียมวางแผนต่อไป คือ การทำไร่แปลงใหญ่ พ่อบุญมีจึงได้ทำความรู้จักกับ “ฟาร์มดีไซน์”โดยขยายระยะห่างระหว่างร่องให้กว้างขึ้น ตามคอนเซ็ปต์ “ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง”

“การเตรียมแปลงรองรับรถตัด ตอนนี้พ่อได้เปลี่ยนวิธีปลูกใหม่ทั้งหมด ถ้าเจอตอในแปลงจะให้คนงานมารื้อออกเลย ถ้าเป็นพื้นที่ไม่ราบเสมอกัน เราก็ต้องไปเกลี่ยให้มันราบให้หมด ปัจจุบันปลูกระยะห่างประมาณ 1.65 เมตร ก่อนหน้านี้ปลูกห่างประมาณ 1.50 เมตร เราต้องลองปลูกหลาย ๆ แบบ ปลูกห่าง 1.70 เมตรก็เคยลองมาแล้วเหมือนกัน ทดลองไปเรื่อย ๆเพราะเมื่อก่อนเครื่องปลูกกว้างสามารถจัดการได้หมดทุกขั้นตอน ซึ่งได้เปลี่ยนมาปลูกแบบนี้ 2 ปีแล้ว ปรากฏว่าการทำไร่อ้อยนั้นได้ผลดีขึ้น”

“ส่วนการปลูกแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ผลเกินกว่าเเต่ก่อนที่เคยได้เพียง 15 ตัน พอเปลี่ยนแล้วได้ 16 ตัน ตั้งเป้าว่าจะได้มากกว่านี้ อยากได้สัก 20 ตัน คิดไว้ว่าน่าจะทำได้ โดยต้องมีการจัดการเตรียมน้ำ เตรียมดิน รวมทั้งวิธีใส่ปุ๋ยโดยใช้วิธีฝังอย่างเดียว ไม่โรยหน้า ถ้าอยากให้โตต้องใส่ปุ๋ย 4 ครั้งโดยใช้รถเล็กฝังปุ๋ยก่อนจะปลูก สาเหตุที่ใส่ปุ๋ยเยอะถึงปีละ4 ครั้งเพราะว่าเป็นดินทราย”

นอกจากการปลูกอ้อยแล้ว เคล็ดลับการทำไร่ของพ่อบุญมีอยู่ที่การ “พักดิน” และการ “ขุดสระ” เพื่อเตรียมทั้งเรื่องดินและเรื่องน้ำ ให้พร้อม “ส่วนการพักดิน เราใช้ใบคลุมหมักไว้ 1-2 เดือน แล้วไถใช้น้ำราด พ่อใช้น้ำตลอดทำให้ต้องขุดสระหมดเงินไป 5 แสนบาทในพื้นที่ 1 แปลงใหญ่ ประมาณ 50 ไร่ ขุดสระไป 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร”

“ตอนนี้พ่อก็ขุดสระมาได้ 2 ปีแล้วนะ มีน้ำเข้ามาเกือบเต็ม เดี๋ยวนี้มีน้ำร่วม 4 เมตร ที่อื่นน้ำลดเหลือ 2-3 เมตรก็มี เนื่องจากพื้นที่แถวนี้เป็นที่สูงเก็บน้ำไม่ค่อยอยู่ ของเราเป็นดินเหนียวสูบน้ำตลอดทั้งปี ก็ยังไม่หมด โดยยืมเครื่องสูบน้ำ 14 แรง ของโรงงานมาสูบ สำหรับสระที่ขุดใช้สำหรับส่วนที่เป็นแปลงใหญ่ที่สุด ส่วนแปลงอื่น ๆ ใช้น้ำในห้วย เพราะที่แปลงอื่นจะติดลำห้วยซึ่งเป็นน้ำสาธารณะ ใครทันก็ได้ใครช้าก็อด เรามีเครื่องสูบอยู่หลายเครื่องก็ให้ลูกน้องไปเฝ้าไว้” พ่อบุญมีเล่าว่าแท้จริงแล้วการปลูกอ้อยโดยการพักดินเป็นแนวทางที่ให้ผลได้ดีกว่า และช่วยให้อ้อยไว้ตอได้ดี แต่ก็ยังกลัวว่าจะขาดรายได้ไปซึ่งมีผู้รู้แนะนำให้ทดลองปลูกพืชอื่นสลับกันในช่วงพักดิน

“พ่อลองปลูกปอเทืองไปหลายเเปลง รอออกดอกแล้วไถกลบ เขาว่าปอเทืองทำให้ดินดีมีธาตุอาหารเพิ่ม ความจริงแล้วมันก็มีหลักอยู่เหมือนกันนะ จะใส่อะไรบำรุงดินนี่ก็ต้องดูด้วยเหมือนกันว่าที่แปลงนั้นเป็นดินอะไร น้ำวีแนสจะช่วยทำให้ดินแข็งขึ้นเหมาะกับดินทราย กากหม้อกรองจะทำให้ดินร่วนซุยเหมาะกับดินเหนียว จะบำรุงดินก็ต้องรู้เทคนิคด้วย อ้อยจะไว้ตอได้นานขึ้นไหมมันก็ต้องอยู่ที่ดินของเราด้วย หากปลูกนาน ๆ หลายคร๊อป ผลผลิตจะลดลงจนไม่คุ้ม อ้อยแถวนี้ส่วนมากจะปลูกได้สองตอ คืออ้อยยอดและอ้อยตอ ไว้ตอเกิน 2-3 ตอจะไม่คุ้ม ส่วนอ้อยยอดนี่ดีที่สุด จะได้ 16 ตัน บางคนได้มากกว่านี้ พอมาเป็นอ้อยตอจะเหลือ 8 ตัน ถ้าไว้อีกตอก็จะลดลงเหลือ 5-6 ตัน ต่ำกว่า 10 ตันก็ไม่คุ้ม ต้องรื้อปลูกใหม่ บวกลบคูณหารดูแล้วคุ้มกว่าพ่อลองมาแล้ว ไม่เชื่อก็ลองดูสิ”

แล้วนี่คือ เคล็ดลับความสำเร็จของ พ่อบุญมี ทิพจริญ ที่สั่งสมประสบการณ์การปลูกอ้อยมาร่วม 20 ปี และจะยังคงอยู่กับอ้อยต่อไป เพราะนี่คือ “ทองคำหวาน” ที่ผุดขึ้นอย่างงอกงามบนพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ที่เขาดูแลเองเป็นอย่างดี

ข่าวปักหมุด