หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกท่าน คงมีใครหลาย ๆ คน สงสัยกันใช่ไหมคะว่า

“หลุมพอเพียง” คืออะไร?

แล้วการทำไร่เกี่ยวอะไรกับ “หลุมพอเพียง” วันนี้มีคำตอบค่ะ

ก่อนอื่นเราขอแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับ ต้นแบบหลุมพอเพียง คุณอัศจรรย์ อนันตภูมิ หรือแม่แวว วัย 52 ปี ชาวไร่ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ สังกัดเขตส่งเสริมที่ 10 โรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์  เจ้าของคติในการดำเนินชีวิต  “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง

            “แม่แวว” มีโอกาสเข้าร่วมเป็นสมาชิกครัวเรือนอาสาในโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ของโรงงานน้ำตาลมิตรผลกาฬสินธุ์ เมื่อช่วงต้นปี 2558 และได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาชุมชนฯ เช่น การอบรม เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียงและการทำหลุมพอเพียง ณ วัดป่านาคำ เมื่อปี 2558 หลังกลับจากการอบรม แม่แวว ได้เริ่มปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตนเอง ทำหลุมพอเพียง บนพื้นที่ 1 ไร่ โดยค่อย ๆ ทำด้วยตัวเอง จนสามีเริ่มมาช่วย และสามารถทำได้ถึง 100 หลุมในระยะเวลา 1 เดือน โดยแม่แววยึดหลักที่พระอาจารย์มหาสุภาพสอนว่าให้ “ทำทันที” ด้วยความขยัน มุ่งมั่นและตั้งใจทำให้แม่แววได้เป็นต้นแบบเรื่อง หลุมพอเพียง ให้กับสมาชิกในโครงการพัฒนาชุมชนฯ

หลุมพอเพียงของแม่อัศจรรย์

แม่แวว-005.jpg

            คือ การบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการปลูกพืชในพื้นที่ขนาด 2x2 เมตร แบบผสมผสานหลากหลายชนิด ตั้งแต่พืชผักสวนครัว เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ผักบุ้ง มะเขือ บวบ ฯลฯ ผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ มะม่วง และไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาว เช่น ต้นสักทอง ประดู่ พะยูง ยางนา เป็นต้น เมื่อปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน พืชจะใช้เวลาโตไม่เท่ากัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชเหล่านี้ ได้ในหลายช่วงเวลา ตั้งแต่เก็บเกี่ยวพืชผักอายุสั้นในช่วงต้น ไม้ผลในช่วงกลาง และร่มเงาจากไม้ยืนต้นในระยะยาว

“หลุมพอเพียง ทำให้ครอบครัวแม่ดีขึ้นมาก เพราะได้กินผักสด สะอาด และปลอดภัย

ช่วยลดรายจ่ายและมีรายได้เสริม

การปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ จะมีอายุสั้น ปลูกง่ายได้ผลเร็ว แม่ปลูกแค่ 1-2 เดือน ก็เก็บมาทำกินได้แล้ว

ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อข้างนอกเลย ส่วนผักสวนครัวที่เหลือก็ยังสามารถเก็บไปขายให้คนในชุมชน ที่

“ตลาดผัก รักษ์สุขภาพ” ที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันสร้างขึ้น ช่วยเสริมรายได้ของครอบครัวแม่อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังทำให้ครอบครัวแม่มีหนี้สินลดลง เพราะแม่ได้นำเงินที่ได้รับจากการขายอ้อย ไปใช้หนี้สินที่มีอยู่”

การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด...จากเกษตรกรต้นแบบหลุมพอเพียง... สู่เกษตรทฤษฎีใหม่

แม่แวว-ต้นแบบหลุมพอเพียง-004.jpgแม่แวว-ต้นแบบหลุมพอเพียง-005.jpg

ปี 2560 มีเจ้าหน้าที่จากเขตส่งเสริมอ้อยที่ 10 เข้ามาเชิญชวนให้แม่แววสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ จากนั้นมีโอกาสไปอบรม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาฬสินธุ์ โดยมีอาจารย์เฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธ์ ผอ.ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นผู้ให้ความรู้และฝึกอบรมกิจกรรมต่าง ๆ ตามฐานเรียนรู้ของศูนย์ ได้แก่ ฐานเรียนรู้คนรักษ์ป่า (การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) ฐานเรียนรู้คนเอาถ่าน (เตาเผาถ่านอิวาเตะ 200 ลิตร) ฐานเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี (การทำปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงหมูหลุมและการทำสารชีวภัณฑ์ไล่แมลง การห่มดิน การเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช) การทำอาหารสัตว์แบบประหยัด รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ตามแบบทฤษฎีใหม่บนพื้นที่ 1 ไร่ ต่อมาได้เข้าร่วมการอบรม ที่โรงงานน้ำตาลฯ เรื่อง การทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีฟาร์ม เพื่อให้รู้ต้นทุนการผลิต และรายรับรายจ่ายของครัวเรือน

นำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

แม่แวว-ต้นแบบหลุมพอเพียง-006.jpg

จากการเรียนรู้เพิ่มเติม แม่แววได้นำความรู้ที่ไปอบรมมาปรับใช้ในพื้นที่ตนเอง “แม่สนใจและประทับใจเรื่องการนำเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า มาทำเป็นปุ๋ย เพราะที่แปลงของแม่มีป่าหลุมพอเพียงทำให้มีใบไม้จำนวนมาก ทุกวันนี้แม่ได้นำเศษใบไม้และกิ่งไม้ต่าง ๆ ในป่าหลุมพอเพียง มาทำเป็นปุ๋ยใส่ในไร่อ้อยของแม่ เป็นวิธีการเลี้ยงดิน ให้ดินดี ถ้าดินดี ดินจะเลี้ยงพืชให้เติบโตได้ผลผลิตที่ดี เหมือนคำที่อาจารย์ได้สอน ว่า เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช..”

ทำเกษตรทฤษฎีใหม่แล้วเกิดผลอย่างไร

            “แม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรเพิ่มขึ้นหลาย ๆ ด้าน ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในพื้นที่ของแม่เอง และยังได้รู้จักเพื่อนสมาชิกในโครงการ เป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันทั้งในและนอกพื้นที่ ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับสมาชิกที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จ หลาย ๆ เรื่องอีกด้วย”

จากเกษตรกรที่เคยประสบปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ พลิกผันตัวเองด้วยความพยายาม สู้ จนได้เป็นต้นแบบหลุมพอเพียง ผู้คอยให้คำแนะนำแก่สมาชิกรายอื่น ๆ ที่สนใจ แม่แววทำให้เราเข้าใจว่า ความพอเพียง การพึ่งตนเอง และแบ่งปันกับผู้อื่นคือ ความสุขที่แท้จริงค่ะ

แม่แวว-003.jpg

แม่แวว-004.jpg

ขอบคุณภาพจาก: 

http://foodsafetythai.com

https://www.gotoknow.org

 

ข่าวปักหมุด