หน้าแรก

ช่วงเวลาดี ๆ ของคนเป็นชาวไร่คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลได้ทันเวลาในฤดูกาลหีบอ้อยเหมือนอย่างในช่วงนี้ ผ่านมาครึ่งทางแล้วมิตรชาวไร่หลายคนใกล้จะปิดจ๊อบตัดอ้อยในไร่ของตัวเองครบแล้วทุกแปลง บางคนกำลังสนุกกับการนำรถตัดไปตระเวนช่วยญาติสนิทมิตรสหายตัดอ้อย วิ่งเข้าแปลงนั้นออกแปลงนี้ ภาพเหล่านี้เราเริ่มเห็นกันจนชินตา และคุ้นเคยกับการทำงานในไร่ร่วมกับเครื่องจักรใหญ่ ๆ เหมือนอย่างชาวไร่ที่บราซิลหรือออสเตรเลียเขาทำกัน

ต้องบอกว่าชาวไร่บ้านเราเองเดี๋ยวนี้น้อยหน้าใครเขาที่ไหน มีทั้งรถตัด รถไถ เครื่องไม้เครื่องมือช่วยทำไร่สมัยใหม่กันทั้งนั้น ยิ่งทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มตามที่เราแนะนำด้วยแล้ว ยิ่งง่ายชีวิตสบายขึ้นกว่าเดิมมาก ดูอย่างฤดูตัดอ้อยเข้าหีบในช่วง 3-4 ปีหลังนี้เราจะเห็นเลยว่า การทำไร่เป็นอะไรที่ง่ายสำหรับมิตรชาวไร่ไม่ต้องกังวลเรื่องหาคนตัดอ้อย บางทีแย่งคนงานกันจองตัวกันข้ามปีให้วุ่นวายใจไปหมด เดี๋ยวนี้ไม่มีใครมาบ่นให้ผมฟังเรื่องนี้แล้ว มีแต่มาถามถึงเทคนิคใหม่ ๆ ทำยังไงให้ทำไร่แล้วได้อ้อยเยอะ ๆ ผมก็พาทำไร่ตามหลักสี่เสาของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม พวกเราลองทำแล้วมันได้ผลดี ขนาดช่วงทำแรก ๆ ปีนั้นอ้อยกระทบแล้งและเป็นแล้งต่อเนื่องติดต่อกันสองปี เราก็ยังได้อ้อยเกิน 10 ต้นต่อไร่อยู่ ในขณะที่เมื่อไปดูแปลงที่ไม่ได้ใช้หลักสี่เสานี่อ้อยวูบเลยครับเหลือไม่ถึง 10 ตันต่อไร่ ไว้ตอต่อไปก็ไม่คุ้ม ต้องรื้อปลูกใหม่สถานเดียว

พูดถึงเรื่องการไว้ตอ เราจะเคยได้ยินมาแต่เล็กแต่น้อยว่า “อ้อยตอคือกำไร” กำไรที่ว่านี้ก็คือมูลค่าเพิ่มที่ได้จากการที่เราไม่ต้องรื้อแปลงบ่อย ๆ เพราะต้นทุนหลักของการทำไร่ก็มาจากการรื้อแปลง ไถเตรียมแปลงเตรียมดินเตรียมท่อนพันธุ์ และการปลูกอ้อยใหม่นี่แหละครับ ดังนั้นจะดีกว่าแน่ ๆ ถ้าเรามีเทคนิคบำรุงอ้อยตอให้ยังได้อ้อยเกิน 10 ตันต่อไร่อยู่ สำหรับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเราใช้ “เทคนิค 3 ใช่” กันครับ

ใช่ที่ 1 : เวลาที่ใช่

เวลาที่ใช่นี่ก็มีผลมากนะครับ ทุกกิจกรรมการดูแลอ้อยตอนี่จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมแต่ละช่วงอยู่ครับ ซึ่งเราเองก็ต้องทำให้อยู่ในห้วงเวลานั้น ๆ อย่างจะใส่ปุ๋ยให้น้ำนี่จะรอไม่ได้ อย่างตัดอ้อยเสร็จแล้วภายใน 7-15 วัน ยังไม่ใส่ปุ๋ยให้น้ำนี่อย่ามองเป็นเรื่องเล็ก ๆ นะครับ เพราะจะส่งผลผลิตอ้อยตอของเราแน่นอน ดังนั้นใช่ที่ 1 นี่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องท่องจำกันให้ขึ้นในว่า ต้องทำงานกันให้ทันเวลานั่นเองครับ

ใช่ที่ 2 : วิธีที่ใช่

วิธีที่ใช่นี่ก็ช่วยมิตรชาวไร่ได้หลายเรื่องเลยครับ นอกจากเราจะให้น้ำได้ทันในช่วงเวลาที่อ้อยตอต้องการน้ำในแต่ละช่วงแล้ว เราก็ต้องเลือกวิธีให้น้ำที่เหมาะสมกับสถานการณ์กันด้วย จะน้ำราด น้ำพุ่งหรือน้ำหยด ถ้าให้ผมแนะนำก็ต้องใช้น้ำหยดสิครับ อ้อยได้น้ำแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ค่อย ๆ ซึมลงผิวดินในอัตราที่พอเหมาะกับที่อ้อยตอของเราต้องการ ถ้าเป็นน้ำราดนี่ยังไม่ทันจะซึมลงดินเลยครับ ยิ่งอากาศแล้ง ๆ พระอาทิตย์ขยันทำงานน้ำนี่ระเหยไปในอากาศหมดกันพอดี มีน้ำเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอครับ อีกอย่างน้ำหยดนี่ช่วยเราประหยัดน้ำได้มากกว่าน้ำราดถึง 5 เท่าเลยนะครับ พูดง่าย ๆ น้ำในปริมาณเท่ากัน ถ้าให้น้ำราดก็ให้อ้อยได้แค่ไร่เดียว แต่ถ้าเป็นน้ำหยดให้ได้ถึง 5 ไร่ แล้ววิธีไหนดีกว่ากันละครับ

ใช่ที่ 3 : ปริมาณที่ใช่

ปริมาณที่ใช่นี่เข้าใกล้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ในกระเป๋ามิตรชาวไร่ที่สุดนะครับ เพราะนอกจากเราจะรู้ช่วงเวลาว่าช่วงไหนต้องทำงานอะไรและใช้วิธีไหนแล้ว ยังต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมด้วย อย่างเรื่องให้ปุ๋ยนี่เห็นได้ชัดเจนเพราะปุ๋ยขายเป็นกระสอบ 1 กระสอบก็มี 50 กก. จะกระสอบละกี่บาทก็ขึ้นอยู่กับสูตรด้วย เราต้องรู้นะครับว่าช่วงไหนที่อ้อยตอต้องการปุ๋ยสูตรใดมาช่วยบำรุง และจะใช้กี่กระสอบต่อไร่ก็ต้องใส่ตามสัดส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำนะครับ ให้มากไปก็สูญเปล่าคือเสียเงินเปล่า ให้น้อยไปก็ไม่พอ อันนี้ส่งผลกับผลผลิตเต็ม ๆ แน่นอนครับ

อย่างลืมนะครับว่า “อ้อยตอคือกำไร” แค่เราไว้ตอเพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 1 ตอ แค่นี้ก็เท่ากับเพิ่มเงินเข้ากระเป๋าได้สบายถือเป็นกำไรต่อเนื่องโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงจริงไหมละครับมิตรชาวไร่

ฝากไว้นะครับเทคนิคการบำรุงอ้อยตอ จำกันให้ขึ้นใจ “ถ้าอ้อยตอต้อง 3 ใช่ ไม่ใช่ 3 ช่านะครับ”

ข่าวปักหมุด