หน้าแรก

สวัสดีมิตรชาวไร่ทุกท่านครับ ในช่วงฤดูหีบอ้อยที่ผ่านมาเป็นช่วงที่พวกเราทุ่มเททำงานกันอย่างหนักตลอด 3-4 เดือน เพื่ออำนวยความสะดวกให้มิตรชาวไร่สามารถนำอ้อยเข้าหีบได้รวดเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะกระทบกับค่าความหวานและน้ำหนักอ้อยหากตัดอ้อยแล้วปล่อยทิ้งไว้นาน ซึ่งหากพูดถึงเรื่องการตัดอ้อยส่งโรงงานแล้ว ในแต่ละปีกลุ่มมิตรผลเราได้มีการพัฒนาและปรับรูปแบบวิธีการตัดอ้อยส่งเข้าหีบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีมานี้ ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องการส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดลดอ้อยไฟไหม้ ปรับระบบการจัดคิวอ้อยใหม่และการเปิดราง B รับอ้อยสดจากรถตัดโดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างความพยายามของพวกเราที่ต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยสอดคล้องเข้ากับยุคเกษตรสมัยใหม่ ประเทศไทย 4.0 ที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในรัฐบาลนี้

ความจริงแล้วผมอยากจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เราต้องทำให้ดีขึ้นนั้น พื้นฐานล้วนมาจากแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ที่เรายึดถือปฏิบัติกันมาเหมือนเป็นสัญญาประชาคมของมิตรผลที่มีต่อพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ขนาดใดใหญ่น้อยก็ตาม เราต้องดูแลท่านถ้วนทั่วถึงกัน เพราะอาชีพชาวไร่อ้อยเป็นอาชีพที่ผมและครอบครัวภูมิใจ ทุกวันนี้ผมเองก็มีสถานะเป็นชาวไร่เหมือนกันกับพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่านเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่พวกเราภูมิใจคือการได้สืบทอดให้อาชีพชาวไร่อ้อยยังคงอยู่ต่อไปไม่ว่าเราจะมีที่ดินแปลงเล็กหรือใหญ่ก็ยังสามารถปลูกอ้อยได้

โจทย์ใหญ่ในวันแรก ๆ ที่มิตรผลเรามาตั้งโรงงานน้ำตาลที่อีสานเมื่อกว่า 30 ปีมาแล้วคือ จะทำอย่างไรถึงจะช่วยให้มิตรชาวไร่รายเล็ก ๆ ทำอ้อยแล้วอยู่ได้ มีกำไรเหลือ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาและส่งเสริมการทำอ้อยของกลุ่มมิตรผลมากมาย หนึ่งในนั้นคือการตั้ง “สถานีขนถ่ายอ้อย” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวไร่รายเล็กไม่ต้องวิ่งอ้อยทางไกล ช่วยประหยัดต้นทุนค่าขนส่งให้ชาวไร่ได้มากกว่าร้อยละ 30 เลยทีเดียว ซึ่งผลพลอยได้จากการมีสถานีขนถ่ายอ้อยยังช่วยให้คนที่มีที่ดินเพียง 4-5 ไร่ที่อยู่รอบ ๆ หันมาปลูกอ้อยยึดเป็นอาชีพในครัวเรือนคือใช้แรงงานในครอบครัวตนเองไม่ต้องไปพึ่งพาแรงงานต่างถิ่นเข้ามาทำไร่ ช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ไปได้อีกทางหนึ่ง เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ก็ไม่ต้องใหญ่โต รถอีแต๊กอีแต๋นที่มีอยู่ก็ใช้บรรทุกอ้อยไปส่งสถานีขนถ่ายอ้อยใกล้ ๆ ได้ ที่สำคัญยังช่วยลดอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการส่งอ้อยทางไกลซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึงในเรื่องความปลอดภัยและทรัพย์สินของชาวไร่ ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีอีกข้อของการมีสถานีขนถ่ายอ้อยของเรา

และด้วยเรื่องความปลอดภัยนี้เองที่ผมให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง “อุบัติเหตุต้องเป็นศูนย์” ทำให้ในปีที่ผ่านมาเราได้มีการนำร่องปรับปรุงสถานีขนถ่ายอ้อยใหม่ ยกระดับขึ้นเป็น “สถานีขนถ่ายอ้อยมาตรฐานความปลอดภัยสูงแห่งแรกในประเทศไทย” ในพื้นที่เขตส่งเสริม 1 และเขตส่งเสริม 7 ของโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว โดยนำหลักความปลอดภัยและหลัก 5 ส. เข้ามาประยุกต์ใช้ มีการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ภายในสถานีขนถ่ายอ้อยให้เอื้อต่อการทำงานที่ปลอดภัยทั้งกับผู้ปฏิบัติงานและชาวไร่ที่มารับบริการ ซึ่งนอกจากเครื่องมือที่ต้องได้มาตรฐานแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี “จป.ด้านอ้อย” ซึ่งคือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพที่ผ่านหลักสูตรเฉพาะทางมาดูแลระบบการทำงานของพนักงานและผู้รับเหมา ตลอดจนความปลอดภัยของมิตรชาวไร่ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานีขนถ่ายอ้อยของเรา

นี่คือความภูมิใจอีกระดับของเราที่ได้มอบให้กับมิตรชาวไร คือการดูแลชาวไร่รายเล็กที่อยู่ด้วยกันกับเรามาตั้งแต่วันแรกที่มิตรผลมาตั้งโรงงานอยู่บนแผ่นดินอีสาน ยังมีอีกหลายสิ่งที่ผมและทีมงานมิตรผลตั้งใจจะทำเพื่อตอบแทนชาวไร่ในกลุ่มมิตรผลทุกคนที่ได้ “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” กับเรามาตลอด 60 ปี เพราะถ้าไม่มีมิตรชาวไร่ ก็ไม่มีมิตรผลในวันนี้เช่นเดียวกัน ขอขอบคุณมิตรชาวไร่จากพวกเรามิตรผลทุกคนมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

บรรเทิง ว่องกุศลกิจ หนึ่งมิตรชิดใกล้ของมิตรชาวไร่ตลอดไป

ข่าวปักหมุด