หน้าแรก

เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมในพิธีสำคัญต่าง ๆ จึงต้องมีอ้อยเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พิธีแต่งงานจะมีอ้อยในขบวนขันหมากและนำมาผูกที่ประตูบ้านเจ้าสาว พิธีไหว้พระจันทร์ของคนจีนก็ใช้อ้อยประดับซุ้ม รวมถึงพิธีอื่น ๆ ที่ต้องมีอ้อยประดับรวมกับต้นกล้วย เห็นแบบนี้ทำให้เข้าใจว่า อ้อยคงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความหมายพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งมาแต่โบราณแน่นอน

เล่าต่อ ๆ กันมาว่า อ้อยเป็นพืชเก่าแก่มีมาแต่โบราณ แต่ปัญหาคือไม่สามารถระบุได้ว่าอ้อยมีถิ่นกำเนิดมาจากไหนกันแน่ เพราะบางท่านก็ว่าอ้อยมีขึ้นในประเทศจีน บางคนก็ว่าในอินเดีย เช่น ในตำราฉบับหนึ่งกล่าวว่า ต้นอ้อยที่ทำนํ้าตาลนั้น มีขึ้นในประเทศจีนก่อนที่อื่นประมาณ 200 ปี จึงเป็นสินค้าแพร่หลายไปยังนานาประเทศ ขั้นแรกได้แพร่หลายมาตามหมู่เกาะต่าง ๆ ของอินเดีย ตลอดมาถึงแหลมมลายู แหลมอินเดียและประเทศสยามก่อน

จากเรื่องนี้แสดงว่าไทยเราก็รู้จักอ้อยมาช้านาน แต่จะนานแค่ไหนก็ระบุไม่ได้ เพราะยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่ในวรรณคดีที่เก่าแก่ที่สุดของไทยอย่างไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึงเรื่องอ้อยไว้ว่า

“เทพดาทั้งหลายเอาลำอ้อยอันใหญ่เท่าลำหมาก อีกด้วยของฝากหมากไม้ทั้งหลายมากนักหนาถวายแต่พระยาศรีธรรมาโศกราช และย่อมเอามาแต่ป่าหิมวันต์ อ้อยฝูงนั้นโสดกินหวานกินอ่อนหนักหนา พระองค์ให้หีบอ้อยทั้งหลายนั้นอังคาดแก่พระสงฆ์ทั้ง 6 หมื่นพระองค์”

และอีกตอนหนึ่งกล่าวถึงอ้อยวิเศษขึ้นอยู่ 6 มุมปราสาทของเศรษฐีโชติกเศรษฐี

“แล 4 มุมปราสาทนั้นมีอ้อยทอง 4 ลำ ลำใหญ่เท่าลำตาลอันใหญ่ และใบอ้อยนั้นเทียรย่อมแก้วมณีรัตนะแล ข้ออ้อยนั้นเทียรย่อมทอง”

เรื่องนี้ถ้าเราตัดเรื่องพิสดารออกแล้ว ก็ทำให้เห็นความจริงบางอย่างได้ว่า ในสมัยก่อนโน้นอ้อยคงจะมีลำโต ถึงจะไม่เท่าต้นหมาก ต้นตาล แต่ก็อาจจะใหญ่กว่าในปัจจุบัน และคงจะได้คั้นหรือหีบอ้อย เอานํ้าอ้อยมาดื่มกินสด ๆ มาแล้ว นอกจากดื่มนํ้าอ้อยสด ๆ ในอินเดียยังใช้ทำเมรัย (เหล้า) ได้อีกด้วยเมรัยในสมัยโบราณมีหลายชนิด เช่น

  1. บุปผาสะโว เมรัยทำด้วยลูกไม้
  2. มัทธาสะโว เมรัยทำด้วยผลจันทน์
  3. คุฬาสะโว เมรัยทำด้วยนํ้าอ้อย
  4. สัมภาระสังยุตโต เมรัยทำด้วยเครื่องปรุงมีสมอ เป็นต้น

การใช้อ้อยทำเหล้าดูเหมือนจะเป็นของดั้งเดิมของคนหลายชาติ อย่างคองโกก็มีเหล้านํ้าอ้อยดื่มในพิธีแต่งงาน พวกคนพื้นเมืองบางพวกของฟิลิปปินส์ ก็ชอบดื่มเหล้าที่ทำจากน้ำอ้อยในพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีฉลองชัยหลังจากชนะสงคราม

ตามหลักฐานวรรณคดีคัมภีร์เก่า ๆ เป็นที่เชื่อได้แน่นอนว่า อ้อยมีรุกขพันธุ์กำเนิดเกิดในอินเดีย ตามคัมภีร์ปุราณของฮินดูว่า อ้อยนั้นฤาษีวิศวามิตร (องค์ที่เชิญพระรามไปปราบนางกากนาสูร) เป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นอาหารทิพย์ในแดนสวรรค์ชั่วคราวที่พระวิศวามิตรฤาษีได้สร้างขึ้นให้แก่ท้าวตรีศังกุ ตามเนื้อเรื่องในคัมภีร์นั้นกล่าวว่า ท้าวตรีศังกุเป็นกษัตริย์ที่มีความปรารถนาอันแรงกล้า อยากจะขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แต่ว่าถูกหมู่เทวดากีดกัน รังเกียจไม่ยอมให้ขึ้น จึงไปอ้อนวอนพระวิศวามิตรฤาษีๆ เอ็นดูแก่ท้าวตรีศังกุ โดยที่เคยมีอุปการะแก่กันมา จึงได้สร้างสวรรค์ชั่วคราวขึ้นให้ในเมืองมนุษย์ ต่อมาทวยเทพเกรงอิทธิฤทธิ์ตะบะเดชะของพระวิศวามิตรฤาษี ตกลงยอมให้ท้าวตรีศังกุขึ้นสวรรค์ได้ทั้งเป็น ส่วนสวรรค์แดนมนุษย์ที่สร้างไว้เป็นอันล้มเลิก เครื่องประดับ ประดาอาภรณ์ก็กระจัดกระจายหายสูญไปสิ้น ในบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องประดับแดนสวรรค์เมืองมนุษย์ที่ยังคงค้างอยู่นั้น ปรากฏว่ามี อ้อยเครื่องทิพย์เหลืออยู่ด้วย การสืบเนื่องแต่นั้นมาจึงได้มีพืชพันธุ์ แพร่หลายทั่วไปในแดนมนุษย์เป็นอนุสรณ์ วัตถุที่ระลึกแห่งตะบะเดชานุภาพอันมหัศจรรย์ของฤาษีวิศวามิตรตราบเท่าทุกวันนี้ (ตามตำนานทางชวากล่าวว่า พระอิศวรลงมาปราบหมูป่าที่ทำลายข้าวด้วยพระแสงหลาวไม้รวกเสี้ยมปลาย และต่อมาพระแสงหลาวนั้นได้กลายเป็นพันธุ์ของอ้อยในชวา-ส.พลายน้อย)

นอกจากนี้ ยังมีข้อความอ้างอิงอีกหลายแห่งหลายที่ล้วนแต่กล่าวยืนยันว่าอ้อยมีมาในมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ซึ่งมีปรากฏในสมัยเมื่ออเล็กซานเดอร์เดอะเกรท เสด็จประพาสอินเดียนั้น ราชบริพารผู้ตามเสด็จ ซึ่งภายหลังได้จดหมายเหตุไว้ในหนังสือที่เป็นคุณประโยชน์หลายเล่ม กล่าวว่าเขาได้พบพันธุ์หญ้าลำต้นใหญ่ชนิดหนึ่งซึ่งมีรสหวานเหมือนนํ้าผึ้ง โดยปราศจากตัวรัง (ซึ่งหมายถึงอ้อย)

อาการที่อ้อยแพร่แผ่พันธุ์ไปยังทวีปต่าง ๆ นั้น ปรากฏหลักฐานจากหนังสือเก่า ๆ ที่คนจีนเขียนไว้ สมัยเมื่อชนชาวมัชฌิมประเทศ เริ่มรู้จักกับจีนนั้น มีพวกแขกชาวชนบทแห่งดินแดนที่อยู่ติดต่อกับจีนได้นำอ้อยไปถวายแก่จักรพรรดิกรุงจีนเป็นเครื่องบรรณาการก่อน และด้วยเหตุที่จีนมีอุตสาหะวิริยะแก่กล้านั่นเอง ได้สงวนพืชพันธุ์ไว้ทนุบำรุงแตกพืชพันธุ์ขยายแพร่ไปที่อื่น ๆ จากประเทศจีนอีกเป็นอันมาก อนึ่งน่าจะมีเค้าเงื่อนเนื่องมาแต่จีนนิยมลัทธิไสยศาสตร์สืบอนุสนธิมาแต่พราหมณ์เป็นเวลานาน เราจะสังเกตได้ว่า จีนนับถืออ้อยเป็นของมงคลของสูงเครื่องศักดิ์สิทธิ์เคร่งครัดมาก ในมงคลพิธีต่าง ๆ จะมีอ้อยเข้าแทรกอยู่เสมอ เช่นพิธีแต่งงาน เป็นประเพณีนิยมในการเชิญขันหมาก ต้องมีอ้อยนำหน้าผูกผ้าแดงเป็นธงทิว และแต่งพุ่มซุ้มประตู เพราะการแต่งงานเป็นพิธีเชื่อมความผูกพัน อันมีลักษณะเป็นพูนเพิ่มความสัมพันธ์สนิทสนมแน่นแฟ้นในกันและกัน แต่อ้อยที่จีนใช้ในพิธีมงคลสมรสนั้น มักใช้อ้อยแดง จึงน่าจะสันนิษฐานว่า อ้อยในสมัยโบราณที่ไปสู่ประเทศจีนซึ่งว่าแขกเป็นผู้นำไปนั้น คงจะเป็นชนิดอ้อยแดง พวกจีนจึงนิยมนับถืออ้อยแดงเป็นอ้อยใช้ในพิธีการมงคล

ตามเรื่องที่เล่ามานี้ ทำให้เราพอเห็นเค้านะครับว่า ทำไมจึงต้องใช้อ้อยประกอบในพิธีต่าง ๆ อยู่เสมอ และนอกจากจะถือกันว่าอ้อยเป็นของศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณดังกล่าวแล้ว ในสมัยต่อมาเรายังถือกัน
ว่าอ้อยเป็นของหวาน เป็นสัญลักษณ์ของความรักด้วย จึงได้ใช้ในพิธีแต่งงานและไหว้พระจันทร์ ซึ่งล้วนแต่หมายถึงความสดชื่นและความหวานของชีวิตทั้งนั้น

นอกจากนี้ขอเพิ่มประโยชน์หรือสรรพคุณทางยาของอ้อยไว้ด้วยสักนิดนะครับ อ้อยที่ใช้ทำยาคืออ้อยแดงอย่างที่ชาวจีนใช้ในพิธีแต่งงานดังได้เล่ามาแล้ว ที่เรียกว่าอ้อยแดง ก็เพราะมีเปลือกเป็นสีแดงจนเกือบดำ จึงมีชื่อว่า อ้อยดำอีกชื่อหนึ่ง และเปลือกของอ้อยแดงมีรสขม จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า อ้อยขม แพทย์แผนโบราณใช้รับประทานแก้เสมหะหืดไอ แก้ไข้สัมปะชวน บางทีขวั้นทั้งเปลือกตากแห้งไว้ปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว แก้ขัดเบา แก้ชํ้ารั่ว ที่แปลกก็คือตาของอ้อยมีรสขมกว่าเปลือก มักปรุงเป็นยาแก้ตัวร้อนดับพิษตาลทรางของเด็กได้ดี

เห็นไหมล่ะครับว่า อ้อยมีความสัมพันธ์และมีประโยชน์ต่อมนุษย์เรามากจริง ๆ ท้ายที่สุดนี้ ขอให้เราชาวไร่อ้อยทุกคน มั่งมี ศรีสุข มากทรัพย์ ดับทุกข์ กับพืชมงคลที่เราปลูกเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมของประเทศนะครับ

ขอบคุณที่มา : ส.พลายน้อย , http://www.vichakaset.com

ข่าวปักหมุด