หน้าแรก

เกษตรกรยุคใหม่ต้องก้าวไกลทันโลก วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการค้าระดับประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมิตรชาวไร่ของเรา นั่นคือเรื่อง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)”

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก-004.jpg

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นความตกลงการค้าระหว่างประเทศขอบแปซิฟิก 12 ประเทศ  ว่าด้วยประเด็นนโยบายสาธารณะต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนการสร้างและรักษางาน การเสริมสร้างนวัตกรรมผลิตภาพและความสามารถการแข่งขัน ยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ลดความยากจนในประเทศ และส่งเสริมความโปร่งใส ธรรมาภิบาลและเสริมสร้างการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งประเทศไทยมีแผนจะเข้าร่วมความตกลงดังกล่าวนี้ และกำลังอยู่ในขั้นตอน การจัดรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ก่อนตัดสินใจลงนาม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็น ในช่วงที่ผ่านมา ที่ได้จัดไปแล้ว 3 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคใต้ พบว่า

  1. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพราะเห็นว่ามีโอกาสในการเพิ่มการค้า การลงทุน ในตลาด CPTPP ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันการค้าไทยกับโลก 1 ใน 3 เป็นการค้าขายกับสมาชิก CPTPP ที่จะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น จากการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าลงมา และยังช่วยดึงดูดการลงทุน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน
  2. ข้อกังวลที่เกษตรกรถามมากสุด คือ หากไทยเป็นสมาชิก CPTPP จะต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในปีต่อไปได้

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก-005.jpg

คำตอบของประเด็นนี้คือ เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพาะปลูกได้ในปีต่อไป แต่ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และในประเด็นสินค้าตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ไม่ได้เปิดทางให้มีการนำเข้าสินค้าจีเอ็มโอ แต่การนำเข้าเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะมีมาตรการดูแล ซึ่งไทยก็มีมาตรการที่ชัดเจนในเรื่องนี้

หลังจากนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีแผนที่จะจัดทำคำถามคำตอบที่เป็นข้อกังวลของเกษตรกร และผู้ประกอบการ เกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในรูปแบบอินโฟร์กราฟฟิก เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทุกส่วน

ซึ่งยังมีแผนรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง คือ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 19 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมดุสิตธานี และครั้งถัดไปที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 26 ก.ย. 2561 ที่โรงแรมพูลแมน มิตรชาวไร่ท่านใดอยากร่วมแสดงความคิดเห็น กรณีประเทศไทยจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เชิญได้ทั้ง 2 ที่นะครับ เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อลดความยากจนในประเทศไทย

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก-003.jpg

ขอบคุณที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-221614 

ข่าวปักหมุด