หน้าแรก

การทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนั้น มีเรื่องการทำ Headland เป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้การทำไร่อ้อยบรรลุเป้าหมาย Headland คืออะไรนั้น ไปทำความรู้จักกันค่ะ

Headland (เฮดแลนด์) คือ พื้นที่บริเวณหัวและท้ายแปลง ที่ถูกเว้นระยะไว้ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรที่ใช้ในแปลงเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ หรือรถตัดในไร่อ้อย

หลักในการทำ Headland ปัจจุบันการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ โดยเฉพาะการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เน้นการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในไร่อ้อยแทนแรงงานคนที่หายาก ดังนั้นการจัดรูปแบบแปลงให้เหมาะสมกับเครื่องจักรที่จะเข้าทำงานในไร่อ้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางการเลี้ยวของเครื่องจักรขนาดใหญ่ อาทิ รถแทรกเตอร์ รถตัดอ้อย รถกระเช้า รถบิน ที่ชาวไร่ต้องใช้งานในขั้นตอนการเตรียมดิน การปลูก การบำรุงรักษา รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวอ้อย

ระยะการเว้นพื้นที่ Headland ขึ้นอยู่กับสถานที่จริงของแต่ละพื้นที่ ขนาดของรถแทรกเตอร์ที่ใช้งาน และความยาวความกว้างของเครื่องมือ โดยทั่วไปเว้นระยะประมาณ 6 เมตร  เพราะความยาวของรถแทรกเตอร์เฉลี่ยที่ 3.8 - 4.2 เมตร เมื่อรวมกับอุปกรณ์ต่อพ่วงข้างหลังรถแทรกเตอร์ประมาณ 2-3 เมตร

ทำเฮดแลนด์-004.jpg

ประโยชน์ของการทำ Headland

  • Save Time ประหยัดเวลาในการทำงานของเครื่องจักร ถ้าเราเว้นหัวแปลงท้ายแปลงให้รถมีพื้นที่เลี้ยวได้สะดวก การทำงานของเครื่องจักรจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องมาเสียเวลาในการเลี้ยวรถแต่ละครั้งเมื่อเทียบกับแปลงที่ไม่ทำ Headland
  • Save Cost ประหยัดค่าใช้จ่าย เมื่อเราทำ Headland จังหวะการเลี้ยวของรถแทรกเตอร์ การกลับหัวต่าง ๆ จะทำได้สะดวก ใช้เวลาทำงานน้อย ช่วยให้ประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการทำงาน ยกตัวอย่างการทำงานของรถตัดอ้อย ในแปลงอ้อยทั่วไปที่ไม่มี Head Land ใช้น้ำมันประมาณ 8 - 2 ลิตรต่อตันอ้อย ในขณะที่แปลงอ้อยที่จัดรูปแบบแปลงโดยเว้นระยะหัวท้ายไว้กลับรถ ใช้น้ำมันเพียง 0.9 ลิตรต่อตันอ้อยเท่านั้น
  • Save Soil รักษาดิน ในพื้นที่แปลงปลูกที่ไม่มี Headland ดินบริเวณหัวแปลงจะถูกอัดแน่นจนเกินไป ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อย คือ เมื่อดินแน่น รากอ้อยจะไม่กระจาย การเจริญเติบโตไม่มี น้ำซึมลงดินยาก ทำให้อ้อยเตี้ย ผลผลิตต่ำ และจะเป็นต่อเนื่องทุกปี
  • High Performance เมื่อเครื่องจักรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีเวลาจัดการไร่ได้ทันเวลา ภาพรวมของผลผลิตก็ดีขึ้น ตามประสิทธิภาพของการทำงานในทุกด้าน

ตัวอย่างเปรียบเทียบข้อแตกต่างในแปลงปลูกอ้อยที่ทำ Headland กับ ไม่ทำ

ในไร่ทั่วไปไถพรวนได้วันละ 30-50 ไร่ แต่แปลงที่มี Head Land ทำได้ 60-70 ไร่  คิดเป็นเกือบ 80% ของตัวงานที่ทำได้ และช่วยประหยัดค่าน้ำมันไม่ต่ำกว่า 30%

การทำ Head Land ต้องเสียพื้นที่ไปกว่า 3-5 % ของพื้นที่ทั้งหมด แต่จะช่วยให้การทำงานของเครื่องจักรมีประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตอ้อยดีขึ้น และคุ้มค่า ประหยัดเวลา ในการทำไร่อ้อยอย่างแน่นอน

ทำเฮดแลนด์-003.jpg

ข่าวปักหมุด