หน้าแรก

แว่ว ๆ จะมีข่าวดีเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ สำหรับชาวไร่อ้อยนะคะ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ระบุว่า กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) กำลังพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร (ระยะที่ 2) เหลือ 1% จากเดิม 2% ที่เหลือรัฐรับภาระ 3-4% ซึ่งต้องหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบโดยเร็วที่สุด วงเงิน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2562-2564) แบ่งความช่วยเหลือปีละ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นอกเหนือจากขยายเวลาการผ่อนชำระสินเชื่อจาก 7 ปี เป็น 9-10 ปี เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยนำเงินกู้ไปจัดซื้อเครื่องจักรกลหรือรถตัดอ้อยในฤดูการผลิตปี 2562/63 ทดแทนการเผาไร่อ้อยที่คาดว่าจะลดลงได้ 4-5% จากปัจจุบันมีการเผาไร่อ้อยเพื่อเตรียมการเพาะปลูกรอบต่อไป 57% ซึ่งก็ลดลงจากปี 2561 ที่ผ่านมามีการเผาไร่อ้อยกว่า 60% ของปริมาณอ้อยที่ส่งเข้าหีบ ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 25 ไมครอน (PM 2.5) โดยตั้งเป้าปี 2564 ต้องไม่มีชาวไร่เผาอ้อยทุกพื้นที่ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณอ้อยที่ตัดส่งเข้าหีบปริมาณสูงถึง 120 ล้านตัน ต่อปี เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 90 ล้านตัน ต่อปี

กรณีที่ยังมีชาวไร่เผาอ้อยนั้น ทาง กอน. ได้ประสานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละพื้นที่ปลูกอ้อยเข้มงวดกวดขันชาวไร่ไม่ให้มีการเผาไร่อ้อยอย่างเต็มที่ ซึ่งมีบางรายฝ่าฝืนจึงถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากรัฐมีนโยบายห้ามชาวไร่เผาอ้อย ก็ต้องยอมรับความจริงว่าชาวไร่ไม่มีทุนมากพอที่จะจ้างแรงงานจำนวนมากมาตัดอ้อย รัฐจึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ชาวไร่อ้อยทราบว่าจะถูกหักเงินค่าอ้อยจากราคาอ้อยขั้นต้น ตันละ 30 บาท กรณีค่าอ้อยไฟไหม้ อ้อยยอดยาว อ้อยที่มีกาบ ซึ่งจะนำไปเฉลี่ยคืนให้กับชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดี 70%

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญผู้แทนจากสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย เพื่อมาหามาตรการระยะสั้น กลาง และยาว ในการพัฒนาอ้อยทั้งระบบต่อไป

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

ข่าวปักหมุด