หน้าแรก

ช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมที่ผ่านมา เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาล สำหรับไร่อ้อยที่ยังใช้แรงงานคนเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยอาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการเก็บเกี่ยวขนส่ง รวมถึงกว่าจะได้เงินมาใช้ ซึ่งเมื่อเทียบกับมิตรชาวไร่ที่นำเครื่องจักรกลประเภทรถตัดอ้อยเข้าช่วยเก็บเกี่ยวอ้อยแทนคน ที่ใช้เวลาในขั้นตอนนี้จนกระทั่งขนส่งเข้าโรงงานเบ็ดเสร็จไม่เกิน 6 ชั่วโมง เป็นตัวเลขที่ฟังดูเหลือเชื่อใช่ไหมคะ? นี่คือความจริงค่ะ

การขนส่งอ้อยเข้าโรงหีบ เป็นอีกหัวใจสำคัญของการปลูกอ้อย ว่ากันว่าชาวไร่อ้อยจะขายอ้อยได้ราคาหรือไม่ โรงงานจะเสียค่าใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหน ก็รู้กันในขั้นตอนนี้แหละค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้อ้อยได้ราคาต้องจัดการเรื่องตัดอ้อยและขนส่งเข้าโรงงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะขั้นตอนเหล่านี้คีย์เวิร์ดสำคัญอยู่ที่ “ใช้รถตัดอ้อย ลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย ได้อ้อยสด ได้โบนัสจากค่าความหวาน”

สิ่งสำคัญคือการจัดรูปแปลงตามหลักการปลูกอ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม คือตัวช่วยอำนวยความสะดวกการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตร ลดแรงงานคนและทำให้ระยะเวลาตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนถึงเข้าโรงงาน หรือ Cut To Crush ใช้เวลาเพียง 6 ชั่วโมง ดังที่กล่าวไปข้างต้น 6 ชั่วโมงนี้แบ่งเป็นกิจกรรมอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

กิจกรรมที่ 1  ช่วงเก็บเกี่ยวและโหลดอ้อย ใช้เวลา 1 ชั่วโมง

กิจกรรมที่ 2 ขนส่งอ้อย 1 ชั่วโมง ด้วยรถเซมิเทรลเลอร์ ที่มีอัตราส่วน 8 คันต่อรถตัดอ้อย 1 คัน

น้ำหนักบรรทุก 35 ตันต่อเที่ยว ระยะทางเฉลี่ย 40 กิโลเมตรจากไร่ถึงโรงงานน้ำตาล

กิจกรรมที่ 3 ขั้นตอนชั่งน้ำหนักและรอดัมพ์ 3.30 ชั่วโมง

กิจกรรมที่ 4 ดัมพ์อ้อย 30 นาที

6 ชั่วโมงเป๊ะ! จบ ครบ ตั้งแต่ตัดจนส่งเข้าหีบ ทั้งนี้มิตรชาวไร่หลายรายยังกังวลว่า การลงทุนกับรถตัดอาจไม่คุ้มทุนสำหรับพื้นที่แปลงขนาดเล็ก จะแปลงเล็กแปลงใหญ่ ก็สามารถขนส่งอ้อยให้มีประสิทธิภาพ แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ค่ะพี่น้อง เพียงใช้หลักการรวมแปลงที่อยู่ติดกัน จับมือกันเป็นเครือข่ายกลายเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เท่านี้การลงทุนกับรถตัด คุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม เพราะรถตัดอ้อยสามารถตัดได้ปริมาณมากเต็มสมรรถนะ 60,000-80,000 ตันต่อปี รับรองเรื่องคืนทุน ไวชัวร์ ไม่มั่วนิ่มจ้า

ข่าวปักหมุด