หน้าแรก

คำว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หมายถึง ลูกที่ไม่ต่างจากพ่อแม่ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรูปร่างหน้าตา แต่หมายรวมถึง แนวคิด การประพฤติปฏิบัติตัว การใช้ชีวิต ตามแบบอย่างพ่อแม่

คนเก่งมิตรชาวไร่ ของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวันนี้ มีเรื่องราวของมิตรชาวไร่คนหนุ่มไฟแรง ที่สานต่อกิจการไร่อ้อยของครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยเหตุผลของความรัก ความผูกพัน ที่เขามีต่อไร่อ้อยที่เติบโตมาพร้อมกับตัวเขาเอง

คุณณัฐพล จวบศรี เถ้าแก่หนุ่มวัย 32 ปี ลูกชายของพ่อโสวัธ จวบศรี มิตรชาวไร่ บ้านแก้ง อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ คุณณัฐพลมารับช่วงต่อจากคุณพ่อตั้งแต่อายุ 22 ปี หลังสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาช่างยนต์ จากขอนแก่น

คุณณัฐพลกล่าวว่า ตั้งใจอยากมาช่วยงานในไร่อ้อยตั้งแต่จบ ม.6 แต่คุณพ่อเห็นว่า อยากให้ศึกษาต่อเพื่อมีวิชาชีพติดตัว คุณณัฐพลจึงต้องไปเรียนต่อ จนจบกลับมาทำไร่อ้อยสมใจ

“ผมอยากมาทำงานในไร่อ้อยมาก เพราะผมเติบโตมาจากตรงนี้ คลุกคลีกับงานในไร่มาตั้งแต่เด็ก ภาพรถไถ รถสิบล้อ วิ่งไปวิ่งมาในไร่เป็นความสุขของผม ตอนนี้ได้กลับมาทำงานตรงนี้ เหมือนได้ทำตามความฝันตัวเอง”

ปัจจุบันคุณณัฐพลดูแลไร่อ้อยแทนคุณพ่อกว่า 700 ไร่ เขาปรับการทำไร่อ้อยรูปแบบใหม่ โดยใช้หลักการทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม เน้นนำเครื่องจักรเข้าทำงานแทนแรงงานคน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว และได้ประสิทธิภาพ

พระเอกในไร่ของคุณณัฐพลคือ รถตัด เพราะช่วยลดปัญหาแรงงานคนที่ขาดแคลน จนบางครั้งทำให้อ้อยระบายไม่ทัน ตั้งแต่มีรถตัดเข้ามา การทำงานไนไร่อ้อยเป็นไปตามเวลาทุกขั้นตอน

คุณณัฐพลเล่าว่า ลงทุนเรื่องลดตัด ได้ประโยชน์หลายอย่าง ดังนี้

  1. ทำงานได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดเงิน
  2. ได้อ้อยสด ลำใหญ่ คุณภาพดี
  3. ค่าความหวานของอ้อยสูง ทำให้ได้รับเงินค่าความหวานเป็นโบนัสพิเศษ
  4. ได้ช่วยเหลือเรื่องตัดอ้อยให้ชาวไร่คนอื่น ๆ ที่ไม่มีเครื่องจักร

เมื่อมีรถตัด สิ่งที่คุณณัฐพลต้องทำคือ ปรับพื้นที่แปลงให้รองรับการทำงาน และปลูกอ้อยเว้นระยะห่างให้รถเข้าทำงานได้ ซึ่งคือระยะ 1.85 เมตร

“คุณพ่อผมรวมกลุ่มกับชาวไร่คนอื่น ๆ ในบ้านแก้งและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อใช้รถตัดร่วมกัน เขาเห็นตัวอย่างจากเราว่าปลูกอ้อยเว้นระยะ ใช้รถตัดแทนแรงงานคน ผลผลิตดีกว่าที่คิด”

ถึงแม้จะมีชาวไร่บางรายที่ยังปลูกอ้อยเผาใบ แต่คุณณัฐพลกับพ่อโสวัธเชื่อว่า เมื่อเขาเห็นตัวอย่าง เขาจะค่อย ๆ เปลี่ยนความคิดไปเอง เพราะเมื่อเผาอ้อย บวกกับเจอปัญหาไฟไหม้ รถตัดเข้าไปทำงานไม่ได้ ไม่ได้อ้อยสด ไม่มีค่าความหวาน มีแต่ความเสียหายตามมา สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยน 

แบบอย่างการทำงานของคุณณัฐพล

“พ่อ คือ ต้นแบบของผม พ่อเป็นคนเก่ง ทำงานเก่ง ขยัน ขับรถไถเก่งมากด้วย ผมอยากทำให้ได้ทุกอย่างเหมือนพ่อ พ่อทำทุกอย่างเพื่อพวกผม ทำไมผมจะทำให้พ่อบ้างไม่ได้ ผมตั้งใจทำงานแทนพ่อ ให้พ่อเหนื่อยน้อยที่สุด คุยกับพ่อว่า เครื่องจักรตัวไหนที่จะแบ่งเบาช่วยงานในไร่ให้สบายได้ เราจะลงทุนกับตัวนั้น เช่นตอนนี้เราอยากได้รถไถเพิ่มอีกสักคันสองคัน จะได้สบายขึ้น”

เป้าหมายในชีวิตคือ

“เป้าหมายคือ ทำงานให้ได้เหมือนพ่อ เพราะพ่อคือไอดอล พ่อสอนให้มีความสุขกับงานที่ทำ แสวงหาสิ่งใหม่ ๆ มาใช้ประโยชน์ในไร่อ้อย หลักการที่พ่อยึดคือ พื้นที่ดี อ้อยดี คนขับดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”

ความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานโดยมีคุณพ่อเป็นฮีโร่ต้นแบบของคุณณัฐพล เราเชื่อว่ามิตรชาวไร่คนเก่งท่านนี้ จะเป็นต้นแบบของลูกหลานในอนาคตได้ไม่ต่างจากพ่อของเขาแน่นอนค่ะ.

ข่าวปักหมุด