หน้าแรก

ที่ผ่านมากระแสเรื่องรณรงค์การลดปริมาณขยะในประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะภาครัฐ ได้นำร่องโครงการลดปริมาณขยะต่าง ๆ เช่น การงดใช้ถุงพลาสติกในโรงพยาบาลรัฐอย่างจริงจัง และภาคเอกชนก็ได้ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวไม่น้อย

ภาคประชาชนเองก็เริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน หลาย ๆ ท่านได้หาวิธีช่วยลดปริมาณขยะในรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่กิจวัตรประจำวันจะเอื้ออำนวย สำหรับมิตรชาวไร่ของเราที่ชีวิตผูกพันอยู่กับการเกษตรนั้น กิจกรรมที่จะช่วยลดขยะได้ดีและเป็นประโยชน์ที่สุดก็คือ “การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์” ที่นอกจากจะเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยนำไปใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างของดิน และเพิ่มธาตุอาหารจำเป็นแก่พืช อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย

การเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อผลิตปุ๋ยหมักและกำจัดขยะอินทรีย์

ในแต่ละวันมีขยะอินทรีย์จากครัวเรือนและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรออกมาในปริมาณมาก และไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งแท้จริงแล้วขยะเหล่านี้ยังคงนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก โดยการนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งมีผู้ช่วยสำคัญในการผลิต คือ “ไส้เดือนดิน” ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

การใช้ไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ ทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เรียกว่า “ปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน” ซึ่งเกิดจากเศษซากพืชอินทรียวัตถุต่าง ๆ รวมทั้งดินและจุลินทรีย์ที่ไส้เดือนดินกินเข้าไปแล้วผ่านกระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุ ขับถ่ายออกมาเป็นมูล มีลักษณะเป็นเม็ดร่วน สีน้ำตาลดำ มีธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ได้ มีความโปร่งเบา พรุน มีคุณสมบัติที่จะระบายน้ำและอากาศได้ดีมาก อีกทั้งยังสามารถเก็บความชื้นได้ดี และมีปริมาณอินทรียวัตถุสูงมาก

และผลพลอยได้อีกอย่างคือ “น้ำหมักมูลไส้เดือน” ที่เกิดจากการเน่าสลายของเศษขยะอินทรีย์ที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือนดิน มีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลดำคล้ายน้ำโคล่า ไม่มีกลิ่นเหม็น

ขั้นตอนการเตรียมการเลี้ยงไส้เดือนดิน

  1. เลือกสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่เลี้ยง สายพันธุ์ที่นิยม ได้แก่ สายพันธุ์ฟีเรททิมา พีกัวนา (Pheretima peguana) หรือที่มีชื่อสามัญว่าไส้เดือนขี้ตาแร่ มีลักษณะพิเศษคือ มีความตื่นตัวสูง กินอาหารได้ดี โดยเฉพาะขยะอินทรีย์จำพวก เศษผัก ผลไม้ แพร่พันธุ์ได้ดี ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูง
  2. เลือกรูปแบบการเลี้ยงไส้เดือนดินที่เหมาะสม

          - ระดับครัวเรือน : ภาชนะที่สามารถนำมาเลี้ยงไส้เดือนดินได้ เป็นภาชนะที่มีขนาดกว้างตั้งแต่ 100 ซม. ยาว 180 ซม. และมีความลึกไม่เกิน 50 ซม. เช่น ลิ้นชักพลาสติก กะละมังและอ่างพลาสติก และ บ่อวงซีเมนต์ เป็นต้น

            - ระดับชุมชน : สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ต้องเป็นโรงเรือนที่ป้องกันน้ำฝนได้ มีการพรางแสงภายในโรงเรือนให้มีสภาพมืด การระบายอากาศดี เย็นร่มรื่น และสามารถป้องกันศัตรูของไส้เดือนดินได้ดี วัสดุที่จะใช้สร้างโรงเรือนและขนาดขึ้นอยู่กับงบประมาณ ขนาดของพื้นที่ และปริมาณขยะอินทรีย์ที่ต้องกำจัด

  1. การสร้างบ่อเลี้ยงไส้เดือน กรณีเลี้ยงในโรงเรือน บ่อเลี้ยงไส้เดือนดินที่เหมาะสม คือ กว้าง 1 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับปริมาณขยะอินทรีย์ และขนาดของพื้นที่ ความลึกไม่ควรเกิน 1 เมตร และควรให้มีการลาดเอียงของพื้นบ่อประมาณ 1-2 % และต้องต่อท่อระบายน้ำหมักออกจากบ่อเลี้ยงไส้เดือนดินในจุดที่ต่ำสุดของพื้นบ่อออกไปยังบ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน
  2. การสร้างบ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน ขนาดบ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดินจะมีขนาดเล็กกว่าบ่อเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำหมักที่ได้ แต่ไม่ควรสร้างใหญ่มาก เนื่องจากพื้นที่ของบ่อกว้างมากจะทำให้มีพื้นที่การระเหยของน้ำมากด้วย ขยะอินทรีย์บางชนิดจำเป็นต้องนำมาหมักก่อนถึงจะนำไปใส่ในบ่อเลี้ยงให้ไส้เดือนดินย่อยสลายต่อไป หากเลี้ยงไส้เดือนดินในภาชนะขนาดเล็ก สามารถหมักขยะอินทรีย์ในถังขนาดเล็กได้ แต่ถ้าเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ จะต้องสร้างบ่อหมักให้มีพื้นที่บ่อหมักเท่ากับ 1 ใน 3 ของบ่อเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยให้มีความกว้าง ความยาวเท่าไหร่ก็ได้ แต่ความสูงไม่เกิน 1 เมตร

ผลิตปุ๋ยอินทรีย์-003.jpg

กระบวนการผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน

  1. การเตรียมวัสดุรองพื้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของไส้เดือนดิน สำหรับไส้เดือนดินสายพันธุ์ขี้ตาแร่ ซึ่งอาศัยอยู่ในมูลวัว ดังนั้นการเตรียมดินจึงควรมีส่วนผสมของมูลวัว โดยใช้ดินร่วนตากแห้ง 8 ส่วน ผสมกับมูลวัวแห้ง 2 ส่วน แล้วหมักไว้ที่มีความชื้น 20 % โดยน้ำหนัก นาน 20 วัน
  2. การปล่อยไส้เดือนดินลงบ่อ ภาชนะเลี้ยงปากกว้าง 30 ซม. ใส่ไส้เดือนดิน 100 ตัว สำหรับวงบ่อซีเมนต์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร สามารถใส่ไส้เดือนดิน 1,000 - 1,500 ตัว หรือไส้เดือนดิน 1 กก.
  3. ปริมาณการกินขยะอินทรีย์ของไส้เดือนดินแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ปกติไส้เดือนดินชอบอาหารที่มีโปรตีนสูง ไส้เดือนดินน้ำหนัก 0.1 กรัม จะกินอาหารประมาณ 80 มก./วัน สำหรับไส้เดือนดินสายพันธุ์ขี้ตาแร่จะกินอาหารโดยเฉลี่ย 120 - 150 มก./น้ำหนักตัว 1 กรัม/วัน
  4. การใส่ขยะอินทรีย์ให้กับไส้เดือนดินในบ่อเลี้ยง นำขยะอินทรีย์มาคัดแยกวัสดุที่ไม่ย่อยสลาย เช่น ถุงพลาสติกต่าง ๆ ออก สำหรับเศษผักหรือวัสดุอื่น ๆ ที่มีขนาดใหญ่ ให้นำมาบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ และอาหารที่เผ็ด เปรี้ยวไส้เดือนดินจะไม่ชอบ ให้นำมากรองน้ำออกแล้วหมักทิ้งไว้ก่อน 1 - 2 คืน ให้บูด แล้วจึงนำมาเทใส่บ่อเลี้ยงแล้วเกลี่ยให้ทั่วผิวหน้าบ่อเลี้ยงไม่ควรใส่ขยะในบ่อหนาเกินไป
  5. การคัดแยกไส้เดือนดินออกจากปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ถ้าเลี้ยงจำนวนน้อยสามารถคัดแยกด้วยการใช้มือจับแยกไส้เดือนดินออกมา หรืองดให้ขยะประมาณ 2 สัปดาห์ ให้มูลแห้งหมาด ๆ แล้วใช้ตะแกรงขนาดเล็กร่อน แต่สำหรับการเลี้ยงในโรงเรือนที่มีปุ๋ยหมักปริมาณมาก ต้องใช้เครื่องคัดแยกหรือใช้ตะแกรงขนาดใหญ่ โดยต้องงดใส่ขยะประมาณ 2 สัปดาห์ ตัวไส้เดือนที่คัดแยกได้นำไปปล่อยในบ่อเลี้ยงไว้ใช้กำจัดขยะต่อไป มูลไส้เดือนที่แยกได้ ให้นำมาผึ่งในร่มเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 30 – 35 %

 

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินนั้นช่วยปรับโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืช ในการนำไปใช้ในแปลงอ้อยนั้น ให้ใส่ปุ๋ยหมักในระหว่างไถพรวนดินอัตรา 500 กก./ไร่ หรือโรยแถวปลูกในอัตรา 0.5 - 1 กก./ตร.ม. ใส่ 1 ครั้งต่อการปลูก 1 รอบ โดยใช้ร่วมกับน้ำหมักมูลไส้เดือนดิน เจือจางน้ำ 2 เท่า แล้วรด 2 ครั้งต่อการปลูกพืช 1 รอบ

สำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์โดยไส้เดือนดินนั้น ยังมีวิธีและขั้นตอนอีกมาก มิตรชาวไร่ท่านใดที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www3.oae.go.th/rdpcc/images/filesdownload/km/Knowledge/productions/10.pdf

ข้อมูลจาก

https://bit.ly/2OLsAmf
https://bit.ly/2q8DlIu
http://www3.oae.go.th/

ภาพประกอบ

https://www.kasetorganic.com/
http://www.thaicityfarm.com/

ข่าวปักหมุด