หน้าแรก

“ท่ามกลางวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา หากยังมีใจสู้ไม่ถอย มุมานะพยายาม มุ่งมั่นหาวิธีแก้ปัญหา ท้ายที่สุดแล้วเราก็จะผ่านมันไปได้” นี่เป็นแนวคิดของคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ของเรา “คุณทองเลื่อน  สิงห์แก้ว” ชาวไร่มิตรภูเขียว สังกัดเขตส่งเสริมอ้อยที่ 15 ที่เริ่มทำไร่อ้อยมาตั้งแต่ยังเด็กกับคุณพ่อ ปัจจุบันเธอรับไม้ต่อมาบริหารไร่เองอย่างเต็มตัวมากว่า 15 ปี

ไปติดตามบทสัมภาษณ์ของแม่ทองเลื่อน มิตรชาวไร่คนเก่งของเรากันค่ะ

ความแตกต่างของการทำไร่สมัยก่อนกับสมัยนี้

“สมัยก่อนสัญญาตันเราไม่ได้ทำเยอะแค่ 50-150 ตัน เพราะเรามีพื้นที่น้อย เครื่องจักรก็ไม่มี พ่อก็เพิ่งซื้อที่แปลงตรงนี้ แล้วโรงงานน้ำตาลมิตรผลก็เริ่มมาเปิดที่นี่ ราวปี 2528-2529 คนก็เริ่มปลูกอ้อยแถว ๆ โรงงานกัน พ่อเริ่มปลูกอ้อยแปลงนี้เป็นแปลงแรก เอารถไถเดินตามเลยนะ แกเอาอ้อยมาวางตามร่อง หั่น ๆ แล้วก็ใช้จอบฝังไปเรื่อย ๆ ใส่น้ำแล้วเหยียบ ๆ นี่คือการทำไร่สมัยก่อนที่พ่อพาทำ

ต่อมาพ่อก็เริ่มขยับขยาย ออกรถไถเพลาเดียวของ John Deer ราคาสองแสนกว่าบาท ลูกไร่ก็เริ่มมี คราวนี้พี่น้องเห็นดีอยากทำด้วย เลยขยับมาเป็นร้อยไร่ สองร้อยไร่ ตอนแม่อายุได้ 30 กว่าปี พ่อก็เสีย เรามารับช่วงต่อ ตอนนั้นมีรถไถคันหนึ่ง ต่อมามีรถไถอีก 2 คัน ซื้อรถสิบล้ออีก 1 คัน แล้วอ้อยเราก็เยอะ พื้นที่ก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เลยตัดสินใจเปิดโควต้าเพิ่มเป็น 3,000 ตัน จากเดิมหลักร้อย เราก็ดูว่าถ้ามีรถสิบล้อแล้ว เราจะขนถ่ายได้กี่ตัน ได้กำไรเท่าไหร่ สมัยก่อนไม่มีรถคีบนะ ใช้คนงานเยอะมาก มานั่งคำนวณเลยตัดสินใจไปซื้อรถคีบมา โควต้าเลยพุ่งถึงหลักหมื่นสอง จนปัจจุบันนี้แม่ได้อ้อยเพิ่มเกินโควต้าตลอดค่ะ”

เคล็ดลับที่ทำให้มีอ้อยส่งตามโควต้าทุกปี

“ต้องวางแผนหลายอย่างค่ะ วางแผนตั้งแต่คุณอยากมีอ้อยเท่าไหร่ ปีนี้ผลผลิตคุณจะได้เท่าไหร่ ถ้าคุณไม่วางพื้นฐาน คิดแต่ว่าจะได้ ลอย ๆ มันไม่ใช่แล้วค่ะ แม่คำนวณแล้วว่าถ้ายังไงอ้อยแปลงนี้ก็ไม่ได้เยอะแน่ พอคำนวณแล้ว แม่ก็ต้องตัดสินใจออกไปหาอ้อยมาเพิ่ม แต่ส่วนมากเราใช้ระบบลูกค้าเก่า อย่างลูกค้าเอาปุ๋ยจากแม่ไปพันกว่าถุง ดูแล้วพันไร่ แม่ก็คำนวณแล้ว ถามเขาว่าจะได้อ้อยประมาณกี่ตัน ถามแล้วเราก็ต้องวิ่งไปดู แต่คนที่อยู่กับแม่ปีนี้นะ แม่แบกภาระหนี้ให้ชาวไร่อยู่ครึ่งต่อครึ่ง มันแล้งจัด ๆ เลย แม่ไม่เคยเจอ บ้านนั้นปลูกอ้อย อ้อยเขาตายหมด แม่เลยทำสัญญาใหม่ประนอมหนี้ คือหักแล้วปัดเป็นหนี้ปีหน้าไปซะ แม่แบกรับภาระดอกเบี้ยคนเดียว เขาลงทุนแล้วไม่ได้อะไรเลย แต่แม่ก็อนุโลมเขาไป ปีนี้หลายแสนอยู่นะแบกภาระให้ลูกไร่อะ ถ้าโรงงานไม่ดันนะ ตายแน่ อันนี้ต้องขอบคุณมิตรผลจริง ๆ ถ้าไม่มีโรงงานก็อยู่ไม่ได้นะ อีกอย่างคือความเสี่ยงแม่ไม่มี เพราะว่าแม่ซื้ออ้อยไว้นานแล้ว คนอื่นเขาจะราคาพุ่งร้อยพุ่งพันก็ช่างเขา แต่อ้อยตรงนั้นเป็นของเราแล้ว นี่แหละที่บอกว่าเราต้องวางแผนก่อน ถ้าไม่วางแผนก็จะไม่ได้อ้อย อย่าไปคิดว่ามีเงินเยอะก็ซื้อได้ มันไม่ใช่ เราก็ทำอย่างนี้มา 17 ปีแล้วค่ะ ต้องทำแบบนี้ถึงจะอยู่ได้ อ้อยแม่ไม่เคยไปขายที่อื่นเลย อ้อยพันธุ์แม้แต่ลำเดียวแม่ก็ไม่ให้ออกไปที่อื่น อันนี้คือความจริงจากใจเลย ไม่เคยไปขายที่อื่น ถ้าเป็นของแม่แล้วนะ แม่ดูแลอย่างดี”

ทองเลื่อน-003.jpg

ตัดอ้อยสด ลดความเสี่ยงทุกทาง

“แม่คิดว่าเราไปกำหนดชาวไร่ทุกคนให้ทำเหมือนกันหมดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ แต่มาตรการหักเงินอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท นี่มันก็ไม่ใช่น้อย ๆ นะ ลองเทียบจากอ้อยเป็นหมื่น ๆ ตัน เงินก็หายไปเป็นหลักแสน หลักล้าน ถือว่าเยอะมากจริง ๆ แล้วอ้อยไฟไหม้มันก็ไม่ดีหลายอย่าง เสี่ยงทุกทาง รณรงค์กันทุกปี ปีนี้ดีหน่อย ลดลงเยอะเลย ไม่มีคนเผาอ้อยเท่าไหร่แล้ว ปกติช่วงหีบอ้อยจะมีหิมะดำ ปีนี้ก็ไม่มี ตอนนี้ภูเขียวลดการเผาลงได้เยอะมากแล้ว ลดจริง ๆ ตัดอ้อยสดเหมือนจะเหนื่อยมากนะแต่มันคุ้ม แม่ดีใจที่ซื้อรถตัดอ้อยมา เพราะแรงงานของเราอายุเยอะขึ้นแล้ว เอารถตัดเข้ามาก็มีผลดีนะคะ เพราะกลัวอนาคตเราจะหาคนงานมาตัดอ้อยกันได้ยากแล้วล่ะ คนสมัยนี้เขาเริ่มเอาเครื่องยนต์กลไกเข้ามาบริหารจัดการงานไร่หมดแล้ว ค่าใช้จ่ายรถตัดมันถูกกว่าใช้คนตัดแบบครึ่งต่อครึ่งเลยนะ แต่ที่แม่ยังมีคนงานไว้อยู่  เพราะใจนึงคือเราก็ทิ้งเขาไม่ได้ เขาอยู่กับเรามาหลายปีแล้ว เขาก็ขอเราไว้เหมือนกัน เราก็ไม่ทิ้งกัน”

เตรียมขุดบ่อบาดาล รับมือหน้าแล้ง

“ปี 2562 ที่ผ่านมานี้อ้อยแล้งจริง ๆ บางแปลงได้ยังไม่ถึง 4-5 ตัน เลย บางแปลงก็อยู่ทุน บางแปลงก็ขาดทุน แต่เราก็ต้องสู้ เกิดมาคุณแม่เองก็เพิ่งเจออะไรแบบนี้ ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นกันมาก่อน แล้งหนักเลย ปี 2563 นี้บอกตรง ๆ นะ จากไม่เคยขุดบ่อบาดาล ก็ต้องขุด ไม่รู้จะแก้ปัญหาได้ร้อยเปอร์เซ็นหรือเปล่า แต่เราจะพยายามทำไปเรื่อย ๆ ค่ะ เราหยุดไม่ได้ เราเป็นชาวไร่ หยุดได้ไง ต้องทำต่อ นี่ก็ต้องแนะนำลูกไร่ว่าคนไหนที่อยากเจาะบ่อบาดาล แม่เป็นหัวหน้าโควต้าแล้วเราก็ทำให้เขา คือให้เขาทำสัญญากับเรา แล้วเราทำสัญญากับโรงงานอยู่ 4-5 บ่อ แม่เป็นคนรับผิดชอบเอง แต่เวลาตัดอ้อยแล้วเขาก็ต้องใช้หนี้เรา เราก็ต้องเอาไปใช้หนี้โรงงาน มันเป็นระบบหมุนเวียน คล้าย ๆ ว่า ถ้าเราแบ่งคนนั้นคนนี้กิน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เขาก็เข้ามาหาเราเหมือนเดิม”

วางแผนไว้อย่างไรบ้างในอนาคต

“ตอนนี้มีลูกชายเข้ามาช่วย แต่ก่อนลูกก็สอนหนังสือ สอนมา 5 ปีค่ะ แต่แม่ให้ออกมาช่วยงานไร่ เพราะพ่อกับแม่ไม่มีเวลาเลย ให้ลูกชายออกมาช่วยได้ 2 ปีแล้วค่ะ ตอนนี้ก็ทำระบบจัดการไร่แบบใช้คอมพิวเตอร์หมด แม่เองไม่ได้เรียนจบสูง ไม่เก่งเหมือนเขา ให้ลูกชายมาช่วยแล้วทุกอย่างไปเร็วมาก แปลงอ้อยทุกแปลงนี้ทำได้เร็วมาก ไม่ต้องพึ่งทีมระดับหัวหน้าอย่างแต่ก่อนเลยก็ได้ ลูกชายทำให้หมด ช่วยบริหารจัดการในไร่ คิดว่าเขาคงจะมาทำเต็มตัวแล้วค่ะ เงินที่เขาใช้จ่ายจากตอนเป็นครูตอนนี้ก็ต่างกันครึ่งต่อครึ่ง ตอนลูกไปทำงานได้เดือนละหมื่นห้า คราวนี้เขามาบริหารไร่เรา เขาถือเงินทุกวัน แม่โอนเข้าบัญชีให้ทุกวัน ก็ถือเป็นกิจการของเขาเอง ไม่ได้ไปเป็นลูกจ้างใครแล้ว มีความสุข แต่ก่อนลูกแม่เขาไม่อยากออกมาทำไร่แบบนี้นะเพราะติดเพื่อน มีเพื่อนครูด้วยกัน เคยไปสังสรรค์กัน แต่คราวนี้เขามาอยู่จุดนี้ จะไปไหนมาไหนก็ใช้เงินใช้ทองที่หามาจากน้ำพักน้ำแรงการทำอ้อย แม่ไปซื้ออ้อยตรงนั้นตรงนี้ได้กำไรมา เขาดูจนเข้าใจแล้ว ตอนนี้ขึ้นรถตัดขับแทนลูกน้องได้ รถไถก็ขับเป็นหมด ทำได้ทุกอย่าง คงเป็นชาวไร่เต็มตัวแล้วล่ะ ส่วนน้องคนเล็กอีกคนยังเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเคมี หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็คงดู ๆ กันไปก่อน ยังเร็วเกินไป ว่าอนาคตเขาอยากทำอะไร ก็ดู ๆ กันต่อไป”

ทองเลื่อน-004.jpg

ทุกอย่างเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา

“ส่วนหนึ่งคือเมื่อแม่มีปัญหา เราก็จะเข้าไปปรึกษากับมิตรผล แม่ไม่เคยมีรถขี่ แม่ก็ได้มี รถสิบล้อ รถตัดอ้อย นี่ได้มาผ่านระบบโรงงานหมด แม่ไม่มีรถร่วมนะคะ รถของแม่หมด รถบรรทุกของแม่ที่รับขนงานยี่สิบกว่าคันเป็นระบบโรงงานหมด โรงงานดูแลเราดี ดอกเบี้ยถูก แล้วเขามีนโยบายดี ๆ เยอะ แต่ที่สำคัญที่สุดเราต้องพยายามด้วยตัวเองก่อน อย่างแม่สู้มาตลอด ถ้ามันแล้งยังไง แต่สัญญาตันที่เรามีอยู่เราก็ต้องหาวิธีให้มีอ้อยส่งเข้าโรงงานให้ได้ตามเป้า ต้องหาวิธีพลิกแพลง ถ้าเรารอฟ้า รอฝน คือเราตาย เราไม่มีทางรอดค่ะ”

และนี่คือแม่ทองเลื่อน คนเก่งเกษตรสมัยใหม่ ผู้ที่มีความพยายามต่อสู้ วางแผน และใช้ประสบการณ์ในการทำไร่จากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประสบความสำเร็จจนเป็นคนเก่งตัวอย่างของเพื่อนชาวไร่อีกหลาย ๆ คนในเขตภูเขียว

ข่าวปักหมุด