หน้าแรก

เส้นทางชีวิตของใครหลายคนอาจมีทางเลือกมากมาย ส่วนใครจะเลือกเส้นทางไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจส่วนตน….ตัวอย่างคนเก่งเกษตรสมัยใหม่ของเราวันนี้นั้น เขาคือบุคคลที่เลือกจะเป็นชาวไร่ แทนตำแหน่งวิศวกรโก้หรูตามโรงงาน เพื่อสานต่องานของครอบครัว เขาคนนี้คือ นายสมเกียรติ เลิศอุดมโชค หรือ คุณบอย มิตรชาวไร่วัย 34 ปี จาก อ.หนองหิน จ.เลย

คุณบอยสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีโอกาสเข้าไปหาประสบการณ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง SCG จากนั้นตัดสินใจลาออกเพื่อมาช่วยครอบครัว

“ผมกลับมาช่วยงานในไร่ได้สักประมาณเกือบ 10 ปี ทำเต็มตัวเมื่อ 5-6 ปีหลัง ปัจจุบันมีไร่อ้อยที่ทำเองรวมแล้วประมาณ 1,500 ไร่ ผมเห็นว่าพ่อแม่เราทำ แล้วเป็นอาชีพที่ดี ชอบความรู้สึกตอนได้เห็นไร่ของตัวเอง เป็นความรู้สึกดีอย่างหนึ่ง แล้วเราก็มีเครื่องมือพร้อม มีองค์ความรู้ของแม่ที่ได้ถ่ายทอดให้เรา ทำให้เราดำเนินงานต่อได้”

สำหรับงานในไร่ คุณบอยใช้ทคนิคบริหารผู้รับเหมาที่มีเครื่องมือขนาดใหญ่ เข้าจัดการทุกกระบวนการทำไร่อ้อยเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีเคล็ดลับอยู่ที่การเตรียมดินเน้นระเบิดดินดาน

“เราจะไถเปิดหน้าดินในจุดที่ต้องการปลูก แล้วทิ้งไว้เพื่อให้หญ้าตาย หลังจากนั้นให้ทางโรงงานใช้เครื่องริปเปอร์ระเบิดดินดาน เพื่อให้ดินดานแตกออกก่อน จากนั้นก็จะรอฝนสักหน่อย พอฝนตกลงไปในดินดาน จะเกิดแหล่งน้ำย่อม ๆ อยู่ข้างใต้ดิน คราวนี้เราก็พร้อมปลูกอ้อยได้ทันที ถ้าแล้งก็นำชุดน้ำหยดไปหยดน้ำ เจาะน้ำบาดาล นำโซลาร์เซลล์มาช่วยให้น้ำหยด”

หนทางรอด ทำไร่อ้อย

หลังจากนำเทคโนโลยีน้ำหยดเข้ามาใช้ก็เห็นผลดีขึ้นอย่างชัดเจน

“อ้อยจะตายไม่ตายมันคือตรงนี้ เพราะอ้อยต้องการน้ำ พอเรามีน้ำให้ยังไงก็รอดทุกแปลง ถ้าแปลงไหนไม่ได้ให้น้ำหยด แต่ถ้าฝนตกก็รอดไป แต่ถ้าฝนไม่ตกก็รอลุ้นเอา 50-50 บางคนเขารอฝนแล้วเกิดฝนไม่มาสักที อ้อยก็ตายไปบ้าง”

กิจกรรมในไร่หลายอย่างคุณบอยใช้แนวคิดแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

“เดี๋ยวนี้เราทำอย่างที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มถ่ายทอดมาให้ ทั้งประหยัดต้นทุน​ ประหยัดเวลา  ยิ่งพอเราลงริปเปอร์เราก็มีแหล่งน้ำใต้ดินให้อ้อย อ้อยก็จะเขียวนาน ดินอุ้มน้ำดี อ้อยจึงมีความชื้นหล่อเลี้ยง ไปดูแปลงไหนที่เขาลงริปเปอร์นะจะเขียวตลอดเลย ที่แปลงของคนอื่นเทียบกันไม่ทำอย่างเราอ้อยเขาจะแห้งเหลือง แต่ของเราก็ยังเขียวอยู่ตลอด ไม่มีตาย ถ้าแปลงไหนลงน้ำหยดได้ก็จะยิ่งดีเลยครับ”

ช่วงที่ผ่านมาคุณบอยทยอยเปลี่ยนการทำไร่นับพันของครอบครัวให้เป็นแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเรื่อยมา รวมถึงตัดอ้อยสดไว้ใบอ้อยคลุมดิน และเว้นระยะห่างระหว่างร่องอ้อยให้ได้ 1.85 เมตร เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเข้าทำงานได้สะดวกที่สุด

คุณบอยยอมรับว่าเมื่อก่อนเคยตัดอ้อยไฟไหม้เพราะทำอ้อยเป็นจำนวนมาก ทำงานได้ไม่ทันเวลา  ประกอบกับยังไม่ได้ทำแปลงรองรับรถตัดไว้ ต่างจากตอนนี้ที่ตั้งใจทำอ้อยสดจนมีสัดส่วนมากกว่าอ้อยไฟไหม้อยู่หลายเท่าตัว

“การตัดอ้อยสดไว้ใบอ้อยคลุมดิน ทำให้อ้อยตอโตดี และตั้งแต่ปีก่อนที่มีนโยบายให้ลดการจุดไฟเผาอ้อย เราก็ยังคุยกับลูกน้องเลยนะว่า เราต้องวางแผนตัดอ้อยสดแล้วนะจากนี้ไป เพราะยังไงรายได้จากอ้อยสดก็ย่อมได้สูงกว่า เวลาเราสางกาบใบมีใบคลุมไว้ความชื้นก็จะยังคงอยู่ หญ้าไม่ขึ้น โรคก็ไม่มีเลย ถ้าเราจุดไฟเผาก็จะเหลือแต่ดินแห้งผาก พอเจอแดดเผาก็ยิ่งแห้งไปหมดเลย จุลินทรีย์ไม่เหลือคือตายหมด
ถ้าเราไม่จุดนะ เชื่อไหมว่าจะไว้ตอได้ถึง 6-7 ตอเลย ก็เป็นแนวทางช่วยลดต้นทุนได้มากอีกทางหนึ่งนะครับ”

ลาออกจากงาน-003.jpg

เส้นทางที่ยั่งยืน

คนเก่งเกษตรสมัยใหม่ท่านนี้ชี้ว่า การตัดสินใจเลือกเส้นทางปรับเปลี่ยนไร่ดั้งเดิมให้เป็นแปลงเกษตรสมัยใหม่ เป็นหนึ่งในทางแยกสำคัญของชีวิตที่หากวันนั้นไม่เลือกเริ่มเดินบนเส้นทางนี้ อาจไม่มี ผลลัพธ์ที่เห็นอยู่อย่างวันนี้

“ผมว่าการปลูกอ้อยบ้านเรานี่ต้องปรับเปลี่ยน มันไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว เราต้องรู้จักเทคโนโลยี  รู้จักเครื่องมือสมัยใหม่ พอเรากล้าที่จะเปลี่ยน กล้าลุกออกมาทำแบบใหม่ ผลผลิตมันก็ดีกว่าเดิมเลย ได้ผลผลิตไร่ละ 17-18 ตัน รายได้เราก็เพิ่มมากขึ้นทันที”

นอกจากนี้คุณบอยยังฝากย้ำทิ้งท้ายว่า เส้นทางการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เป็นเส้นทางชีวิตที่ยั่งยืนและดีที่สุดแล้ว

“เพื่อนชาวไร่บางคนเขาไม่เข้าใจก็มองว่าที่เราทำมันสิ้นเปลือง แต่อยากจะบอกเขาเหลือเกินเหมือนกันว่า ที่เราทำอยู่เราได้แต่ผลดี ถ้าสมมุติเราไม่ลงทุนไปบ้าง เรามัวจะประหยัดอย่างเดียว มันก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมที่ทำหรอก เราต้องรู้จักลงทุน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า ดังนั้นเราต้องปรับเปลี่ยนวิถีเส้นทางเดินกันแล้วนับแต่นี้ไปครับ”

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด