หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ช่วงเวลาที่เราปล่อยให้ดินได้พักผ่อนด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว หลังปลูกอ้อยต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน คือเวลาทองของการตอบแทนคืนสู่ดิน ที่ช่วยให้อ้อยของเราเจริญเติบโตจากรุ่นสู่รุ่นนะคะ

เรื่องของดิน เป็นเรื่องที่เกษตรกรทุกคนต้องให้ความสำคัญ เพราะเราทำมาหากินบนดิน ต้องพึ่งพาอาศัยดิน ช่วยให้พืชที่เราปลูกไม่ว่าชนิดใดก็ตาม เจริญเติบโตเต็มที่ ให้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นการตรวจดิน วิเคราะห์ดินจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

การตวรจสอบความเป็นกรด-ด่างของดิน ถือเป็นการวิเคราะห์ดินพื้นฐานที่ทำได้ง่าย ๆ ที่จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจสภาพของดินและบำรุงดินได้ถูกต้อง เพราะความเป็นกรด-ด่าง เป็นตัวบ่งชี้ประการแรกที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของดิน

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าดินเป็นกรดเป็นดินที่ไม่เหมาะในการทำการเกษตร แต่แท้จริงแล้วดินที่เหมาะสมกับภาคการเกษตรควรมีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย แต่ไม่ควรมีค่าความเป็นกรดต่ำกว่า 5.5 เพราะความเป็นกรดที่ต่ำกว่านี้จะมีผลต่อธาตุอาหารของพืชในดิน โดยทำให้ธาตุอาหารของพืช เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม ซัลเฟต โมลิบตินัม ไม่สามารถละลายออกมาในรูปที่รากพืชจะดูดไปใช้ได้

วิธีตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของดิน ทำได้ดังนี้

  1. สังเกตลักษณะทางกายภาพของดิน เพื่อบ่งชี้ความเป็นกรด-ด่าง คุณสมบัติทางกายภาพของดิน เช่น สีดิน เม็ดดินและสภาพภูมิประเทศ สามารถใช้บ่งบอกความเป็นกรด-ด่างของดินได้ วิธีการนี้รวดเร็วแต่จะไม่สามารถบอกค่าความเป็นกรด-ด่างออกมาเป็นปริมาณที่ชัดเจนได้ จะบอกได้เพียงว่าน่าจะเป็นกรดหรือเป็นด่างเท่านั้น เช่น
  • ดินที่เป็นลูกรัง ส่วนมากเป็นดินกรด
  • ดินทรายจัด ส่วนมากเป็นดินกรดอ่อน
  • ดินชั้นล่างที่มีสีสนิมและดินชั้นล่างที่มีสีเทาจากการแช่ขังน้ำ เช่น ดินนา เป็นดินกรด
  • ดินที่พบหินปูนปะปน เป็นดินด่าง
  • ดินที่ปลูกอ้อยแล้วพบว่าในอ้อยอายุน้อยมีใบขาวซีดตั้งแต่ใบบนถึงใบล่าง เป็นดินด่าง เป็นต้น
  1. ตรวจวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำค่าที่วิเคราะห์วัดได้มาแปลความหมายเทียบกับระดับความรุนแรงของกรด-ด่างในดิน การตรวจวิเคราะห์ด้วยเทคนิคนี้ แบ่งออกได้ 2 แบบใหญ่ ๆ คือ

2.1 การตรวจวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด-ด่างในห้องปฏิบัติการ วิธีการคือสุ่มเก็บตัวอย่างดินที่ต้องการทราบค่าความเป็นกรด-ด่าง นำส่งให้ห้องปฏิบัติการทำการวิเคราะห์ จากนั้นผู้ทำการตรวจวิเคราะห์จะนำตัวอย่างดินมาละลายกับน้ำบริสุทธิ์แล้ววัดค่าความเป็นกรด-ด่าง ด้วยเครื่องวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่างที่เรียกกันทั่วไปว่า pH meter วิธีการตรวจวัดนี้ให้ค่าความถูกต้องของการวัดกว่า 80% ขึ้นไป

2.2 ตรวจวิเคราะห์ค่าความเป็นกรด-ด่าง ภาคสนาม การตรวจ วิเคราะห์ด้วยวิธีการนี้จะใช้เวลาไม่มาก สามารถทราบผลการตรวจวัดได้ในหน้างานจริง แต่ค่าความถูกต้องอาจจะน้อยกว่าการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เครื่องมือที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ เครื่องตรวจวัดค่า pH แบบพกพา (portable pH meter) และ การใช้ชุดตรวจค่าความเป็นกรด-ด่างดิน หรือที่เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า pH test kit

เมื่อเราทราบผลการตรวจวิเคราะห์แล้ว เราจะต้องนำผลที่ตรวจวิเคราะห์ได้มาทำการเปรียบเทียบกับตารางการจัดระดับความรุนแรงความเป็นกรด-ด่างของดิน ดังภาพนี้ค่ะ

003.jpg

ซึ่งเมื่อเราทราบว่าดินของเรามีสภาพเป็นกรดหรือด่างอย่างไรแล้วนั้น เราก็จะสามารถจัดการปรับปรุงสภาพของดินให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อให้อ้อยหรือพืชต่าง ๆ ที่เราจะปลูกสามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ ให้ผลผลิตงอกงามตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ค่ะ

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด