หน้าแรก

มิตรชาวไร่คงเคยได้ยินคำว่า “การปรับสัดส่วนพันธุ์อ้อย” ซึ่งหมายถึงการปลูกอ้อยหลายพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่เกิดการระบาดรุนแรงจากโรคแมลงศัตรูอ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง เพื่อลดโอกาสความเสียหายที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันมีพันธุ์อ้อยที่โตเร็ว หวานดี หลากหลายพันธุ์มากขึ้น

ในปัจจุบันพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์ที่ถูกปลูกมายาวนาน มีสัดส่วนคลอบคลุมพื้นที่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งประเทศไทย จึงทำให้สะสมเชื้อโรคใบขาวมากในลำอ้อย เมื่อสภาพแวดล้อม มีความเหมาะสมอาจจะเกิดการระบาดของโรคใบขาวอย่างรุนแรงได้ทันที ที่สำคัญอ้อยพันธุ์นี้เริ่มพบการระบาดของโรคแส้ดำมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผลผลิตและคุณภาพมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากขึ้น

มิตรชาวไร่ จึงจำเป็นต้องปรับสัดส่วนพันธุ์อ้อยในพื้นที่ของตัวเอง โดยการนำพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาปลูกทดแทนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มมิตรผลเองก็ออกมาแนะนำพันธุ์อ้อยใหม่ ๆ เช่น อ้อยพันธุ์ตระกูลอู่ทองและพันธุ์ขอนแก่น ของกรมวิชาการเกษตร พันธุ์ภูเขียว ของบริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด เป็นต้น เพื่อให้พี่น้องมิตรชาวไร่ได้นำมาปลูกเพื่อปรับ สัดส่วนพันธุ์ขอนแก่น 3 ลง

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีวิธีปรับสัดส่วนพันธุ์อ้อยให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อยอย่างรุนแรง (outbreak) ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. มิตรชาวไร่ที่มีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ไม่ควรปลูกอ้อยพันธุ์เดียว
  2. พื้นที่ลุ่ม มีน้ำมาก เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม สามารถปลูกอ้อยพันธุ์มิตรผล 358 หรือ มิตรผล 442 ซึ่งทนน้ำท่วมได้ดีกว่าพันธุ์ขอนแก่น 3
  3. พื้นที่ดินดี น้ำดี สามารถปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 4, ภูเขียว 3 และอู่ทอง 15 ได้
  4. พื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝน สามารถแบ่งปลูกอ้อยมิตรผล 618 และอู่ทอง 15 ได้
  5. พื้นที่ดินทราย สามารถปลูกอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 เป็นพันธุ์หลัก โดยมีพันธุ์รองเช่น อู่ทอง 15 ภูเขียว 618 และขอนแก่น 4 เป็นต้น
  6. ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ไร่ขึ้นไป ควรปลูกอ้อยอย่างน้อย 4 สายพันธุ์ขึ้นไป เมื่อเกิดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อยในพันธุ์ขอนแก่น 3 มิตรชาวไร่จะมีพันธุ์ใหม่ทดแทนทันที หรืออาจจะขายพันธุ์อ้อยพันธุ์ใหม่เป็นราได้อีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ขอฝากให้มิตรชาวไร่ ลองพิจารณาการปรับสัดส่วนพันธุ์อ้อย ด้วยการลองปลูกอ้อยพันธุ์ใหม่ ๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อลดปัญหาการเกิดโรคและแมลงศัตรูอ้อย และอาจเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากอ้อยพันธุ์อื่น ๆ ที่ให้ความหวานดี ผลผลิตดี โตไว เพื่อเป็นทางเลือกในการปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนต่อไปค่ะ

ที่มาข้อมูล : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด