หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลถูกใช้เป็นส่วนสำคัญในการช่วยปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรในประเทศไทย จากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การทำเกษตรยุคใหม่ได้ การปรับตัวเข้าสู่การเกษตรสมัยใหม่จึงถือเป็นความท้าทายต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการทำเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากขึ้น

โดรนเกษตร เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาแรง ที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเข้าสู่เกษตรสมัยใหม่

โดรน หรืออีกชื่อนึงว่า UAV (Unmanned Aerial Vehicle) ถูกใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ใช้ในการถ่ายรูป/ถ่ายวิดีโอจากมุมสูง ใช้ในการเกษตร และใช้ในการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นบริการที่ทาง Google และ Amazon กำลังพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการในอนาคต

เราจะคุ้นเคยว่าคนส่วนใหญ่ใช้โดรนสำหรับการถ่ายภาพที่ทำให้ได้มุมมองที่แปลกตา ปัจจุบันรายการโทรทัศน์ ละคร หรือภาพยนตร์ นิยมใช้โดรนในการถ่ายทำเพื่อให้ได้มุมมองที่สวยงามที่ไม่เคยเห็น แต่เราก็ต้องศึกษาเพื่อเลือกใช้ประเภทของโดรนที่เหมาะกับลักษณะของงาน

003.jpg

การใช้โดรนสำหรับการเกษตร

มิตรชาวไร่จะเห็นว่า ปัจจุบันการทำการเกษตรของบ้านเราพัฒนาไปอย่างมาก เกษตรกรสมัยใหม่นำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในหลายกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนผลิต การใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรระบบอัตโนมัติในกระบวนการต่าง ๆ ไปจนถึงการหาตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตตรงสู่ผู้บริโภคได้ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ซึ่งเทคโนโลยีสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรไทยได้ และโดรนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดเวลา ลดแรงงานในการทำงาน โดยโดรนสามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ดังนี้

1. โดรนสำหรับหว่านปุ๋ย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช

โดยปกติแล้วการฉีดพ่นยากำจัดศัตรูพืชและหว่านปุ๋ยในแปลงเกษตรต้องพึ่งพาแรงงานคน จะใช้เวลาในการทำงานหลายชั่วโมงต่อพื้นที่ ค่าจ้างแรงงานก็ไม่ได้ถูก และมีการเหยียบย่ำลงในพื้นที่เกษตรเพื่อให้การฉีดพ่นทั่วถึง จึงอาจทำให้พืชผลได้รับความเสียหาย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการฟุ้งกระจายสารเคมีที่ใช้ต่อแรงงานที่เป็นผู้ฉีดพ่นยา

หากนำโดรนมาใช้ในการฉีดพ่นยาและหว่านปุ๋ย จะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าการใช้แรงงานคน สามารถลดเวลาในการทำงานได้

ข้อดีของการใช้โดรนพ่นสารเคมี คือลดเวลาที่ต้องใช้คนนำถังน้ำยาเดินฉีดหรือพ่นยาไปตามพื้นที่เกษตร ซึ่งจะใช้เวลานาน และไม่สามารถพ่นยาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งการเดินตามไร่นา ไร่อ้อย หรือสวน จะทำให้เกิดการเหยียบย่ำพืชให้เสียหาย ซึ่งหากมีการวางแผนในระยะยาว การใช้โดรนพ่นยา จะทำให้คุ้มทุนมากกว่าการจ้างคนเพื่อพ่นยา และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานคนได้

2. โดรนสำหรับการรดน้ำ การให้ฮอร์โมน

ในการรดน้ำและการให้ฮอร์โมนพืช ช่วงเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญมาก พืชบางชนิดจะสามารถดูดซึมอาหารและฮอร์โมนได้ดีที่สุดในช่วงเวลาที่ปากใบเปิด คือเวลาไม่เกิน 7 โมงเช้า หากเกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรหลายไร่ ก็จะต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการรดน้ำและให้ฮอร์โมนพืชให้ทันเวลา ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ได้โดยการใช้โดรนในการรดน้ำและให้ฮอร์โมนพืชแทนแรงงานคน ซึ่งจะสามารถลดเวลาและการใช้แรงงานในการรดน้ำและให้ฮอร์โมนพืชได้

3. โดรนสำหรับการถ่ายภาพวิเคราะห์/ตรวจโรคพืช

เทคโนโลยีโดรนสามารถนำมาช่วยให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษาโรคพืชได้อย่างตรงจุด โดยการนำโดรนมาติดระบบเซ็นเซอร์ และกล้องสำหรับการถ่ายภาพทางอากาศโดยใช้ระบบ GPS ในการหาพิกัดต่าง ๆ การตรวจสอบภาพพื้นที่เพาะปลูกในมุมสูง เพื่อวิเคราะห์หาการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุด และหาวิธีแก้ไขได้อย่างทั่วถึง

004.jpg

หลายคนอาจมองว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่หากมองถึงความคุ้มทุนจากการลงทุนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถแก้ปัญหาแรงงานคนได้ในระยะยาว และช่วยลดเวลา ลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายในอนาคต ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยจริงไหมคะ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อซัพพอร์ตการทำงานของมนุษย์ ให้ทำงานได้สะดวกสบาย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ดังนั้นจึงมีทั้งข้อดีข้อเสีย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกรผู้ใช้เองว่าจะเลือกเทคโนโลยีชนิดใดให้เหมาะสมพื้นที่เกษตรของตนเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ที่มาข้อมูล-ภาพจาก

https://www.depa.or.th/

https://www.icpladda.com/

https://www.dronekaset.com/

ข่าวปักหมุด