หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ หากพูดถึงปัจจัยการผลิตหลักที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตอ้อย “น้ำ” คือปัจจัยสำคัญที่ต้องพูดถึง ซึ่งหากอ้อยได้รับน้ำอย่างเพียงพอตลอดช่วงการเจริญเติบโต ผลผลิตของอ้อยจะได้ไม่ต่ำกว่า 15 ตันต่อไร่

ทำไมน้ำจึงสำคัญ ? เพราะอ้อยต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างน้ำตาล อ้อยที่ขาดน้ำจะเจริญเติบโตช้า ผลผลิตต่ำ และให้ความหวานต่ำ ซึ่งอ้อยต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโตตลอดปี ประมาณ 1,500 มิลลิเมตร

พื้นที่เพาะปลูกอ้อยของมิตรชาวไร่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ในเขตชลประทาน การเพิ่มผลผลิตอ้อยให้สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องจัดการระบบชลประทานในไร่อ้อยให้ดี เพราะ การให้น้ำแก่อ้อยจะทำให้ความสามารถในการไว้ตอดีขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่มิตรชาวไร่อีกด้วย

ซึ่งการให้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตอ้อยให้สูงขึ้นนั้น อ้อยจะต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ตลอดระยะเวลาการเจริญเติบโต แต่อย่าลืมว่าความต้องการน้ำของอ้อยจะขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ และช่วงระยะการเจริญเติบโต โดยแบ่งระยะความต้องการน้ำของอ้อยไว้ 4 ระยะ คือ

  1. ระยะตั้งตัว (0-30 วัน) เป็นระยะที่อ้อยเริ่มงอกจนมีใบจริง และเป็นตัวอ่อน ระยะนี้อ้อยต้องการน้ำในปริมาณไม่มาก เพราะรากอ้อยยังสั้นและการคายน้ำยังมีน้อย ดินจะต้องมีความชื้นพอเหมาะกับการงอก ถ้าความชื้นในดินมากเกินไปตาอ้อยจะเน่า ถ้าความชื้นในดินน้อยเกินไป ตาอ้อยจะไม่งอก หรือถ้างอกแล้วก็อาจจะเหี่ยวเฉาและตายไป ในสภาพดินที่เมื่อแห้งแล้วผิวหน้าฉาบเป็นแผ่นแข็ง ก็อาจทำให้หน่ออ้อยไม่สามารถแทงโผล่ขึ้นมาได้ ดังนั้นในระยะนี้การให้น้ำอ้อยควรให้ในปริมาณน้อยและบ่อยครั้ง เพื่อทำให้สภาพความชื้นดินเหมาะสม
  2. ระยะเจริญเติบโตทางลำต้น (31-170 วัน) ระยะนี้รากอ้อยเริ่มแพร่กระจายออกไปทั้งในแนวดิ่งและแนวระดับ เป็นระยะที่อ้อยกำลังแตกกอและสร้างปล้องเป็นช่วงที่อ้อยต้องการน้ำมาก ถ้าอ้อยได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอในระยะนี้ จะทำให้อ้อยมีจำนวนลำต่อกอมาก ปล้องยาว ทำให้อ้อยมีลำยาว และผลผลิตสูง การให้น้ำจึงต้องให้บ่อยครั้ง
  3. ระยะสร้างน้ำตาลหรือช่วงสร้างผลผลิต (171-295 วัน) ช่วงนี้พื้นที่ใบอ้อยที่ใช้ประโยชน์ได้จะน้อยลง อ้อยจะคายน้ำน้อยลง และตอบสนองต่อแสงแดดน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อย ให้เฉพาะช่วงที่อ้อยเริ่มแสดงอาการขาดน้ำ
  4. ระยะสุกแก่ (296-330 วัน) เป็น ช่วงที่อ้อยต้องการน้ำน้อย และในช่วงก่อนเก็บเกี่ยว 6-8 สัปดาห์ ควรหยุดให้น้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำในลำต้นอ้อยและบังคับให้น้ำตาลทั้งหมดในลำอ้อยเปลี่ยนเป็น น้ำตาลซูโครส

นอกจากการตอบสนองของอ้อยต่อน้ำในแต่ละระยะการเจริญเติบโตแล้ว  ปัจจัยด้านคุณสมบัติของดินยังมีผลต่อการตอบสนองของอ้อยต่อน้ำด้วย เช่น ความสามารถของดินในการซับน้ำ ดินต่างชนิดกันย่อมมีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ไม่เหมือนกันสำหรับดินที่สามารถ ซับน้ำไว้ได้มากไม่จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยครั้งเหมือนดินที่มีเนื้อหยาบและซับ น้ำได้น้อย ดินเหนียวจะมีความชื้นอยู่มากกว่าดินทราย เป็นต้น

อีกทั้งมิตรชาวไร่ยังต้องพิจารณาสภาพดินฟ้าอากาศ เพื่อให้น้ำแก่อ้อยด้วย เช่น ในช่วงที่มีอุณหภูมิสูง อ้อยจะคายน้ำมาก ความต้องการน้ำจะมากตามไปด้วย จำเป็นต้องให้น้ำบ่อยขึ้น ในช่วงที่มีฝนตกควรงดให้น้ำ และหาทางระบายน้ำแทน เพื่อให้ดินมีความชื้นและอากาศในดินเหมาะสม ในช่วงฝนทิ้งช่วงก็ควรให้น้ำ เพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตของอ้อยดีขึ้น เป็นต้น

ที่มา : วารสาร Blueprint ดินทราย , คู่มือการจัดการการปลูกอ้อยของ สอน.

 

 

ข่าวปักหมุด