หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่าน เครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนาวันนี้ ขอพาพี่น้องไปรู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของมิตรชาวไร่หัวไวใจสู้ ชาวอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง มีความขยัน และหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ค่ะ

และนอกจากเราจะพาไปรู้จักมิตรชาวไร่ท่านนี้แล้ว เรายังมีเคล็ดลับเด็ด ๆ สู่การสร้างรายได้เสริมมาฝากอีกด้วย ไปติดตามกันเลยค่ะ

พี่สุภาพ สถิตย์ชัย มิตรชาวไร่วัย 39 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านหนองโสน ต.หนองข่า อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการตำบลมิตรผลร่วมพัฒนาตำบลหนองข่า โดยหลังจากว่างเว้นจากการ ดูแลไร่อ้อย จำนวน 24 ไร่ พี่สุภาพก็จะลงมือทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จากการแบ่งพื้นที่ทำไร่อ้อย จำนวน 3 ไร่ เพื่อปลูกผักสวนครัวปลอดภัยตามฤดูกาล

นอกจากนี้ พี่สุภาพยังมีความสนใจในการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจที่ใช้ต้นทุนน้อย เลี้ยงง่าย โตไว ใช้เวลาในการเลี้ยงเพียง 40-45 วัน ก็ขายได้ และยังเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งก็คือ “จิ้งหรีด” นั่นเองค่ะ

เมื่อพูดถึงด้านโภชนาการของจิ้งหรีดพบว่า จิ้งหรีด มีปริมาณโปรตีนและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ต่างประเทศนิยมสั่งจิ้งหรีดแช่แข็ง จิ้งหรีดต้มบรรจุกระป๋อง จิ้งหรีดอบ และจิ้งหรีดบดให้กลายเป็นโปรตีนผง เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร ดังนั้นจิ้งหรีดจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่พี่สุภาพนำมาเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้เสริมและเป็นจุดเริ่มต้นให้พี่สุภาพ เข้าร่วมกลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองโสน (ฟาร์มจิ้งหรีด ออลบั๊กส์) เพื่อศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีดและนำกลับมาเลี้ยงในพื้นที่บ้านของตนเอง

340398ภาพพี่สุภาพ.jpg

เมื่อถามถึงรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด พี่สุภาพบอกเลยว่า เป็นอาชีพเสริมที่ไม่ต้องออกแรงมาก และใช้เวลากับการดูแลน้อย เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว มีรายได้เกือบ 50% ของการลงทุน อย่างน้อยต่อรอบการผลิต

เคล็ดลับการเลี้ยงจิ้งหรีด พันธุ์ทองดำและ พันธุ์ทองแดง

พี่สุภาพได้เริ่มต้นการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างจริงจังบนพื้นที่โรงเรือน ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร และใช้บ่อในการเลี้ยงจิ้งหรีด จำนวน 4 บ่อ แม้จิ้งหรีดจะเป็นแมลงขนาดเล็ก แต่การจัดสถานที่สำหรับจิ้งหรีดสิ่งสำคัญ จำเป็นต้องมีที่สำหรับกันแดดและฝนให้กับจิ้งหรีด เพราะจิ้งหรีดเป็นสัตว์บอบบาง เมื่อถูกแดดหรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานจะตาย หรืออยู่ในที่ที่มีความชื้นสูงมาก หรือโดนฝนก็ตายเหมือนกัน

ดังนั้นโรงเรือน ที่เลี้ยงจิ้งหรีดควรมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดต้องไม่เกิน 25-35 องศาเซลเซียส หากร้อนกว่านี้จะทำให้ควบคุมสภาพอากาศได้ยาก และจะต้องช่วยระบายความร้อนให้อากาศถ่ายเทออกจากโรงเรือน

สำหรับขั้นตอนการเลี้ยงจิ้งหรีดพี่สุภาพได้แบ่งขั้นตอนการเลี้ยง ออกเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้ค่ะ

1) การขยายพันธุ์วางไข่ แม่พันธุ์จิ้งหรีดจะได้จากจิ้งหรีดตัวเต็มวัยที่ผสมพันธุ์แล้ว โดยการใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำให้ชุ่มใส่ไว้ในขันวางให้แม่พันธุ์ไข่ลงไป โดยการขยายพันธุ์จะวางขันสำหรับให้แม่พันธุ์วางไข่ 4-6 อันต่อบ่อ ซึ่งใน 1 บ่อ สามารถวางขันรองไข่ได้ 2-3 ครั้ง ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์แล้ว 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่โดยใช้อวัยวะที่ยาวแหลมคล้ายเข็มความยาวประมาณ 1.50 ซม. แทงลงไปใน ขุยมะพร้าวประมาณ 1-1.50 ซม. และวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 1,000-1,200 ฟอง ปริมาณไข่สูงสุดจะอยู่ในช่วงวันที่ 15-16 นับจากการผสมพันธุ์ จากนั้นจำนวนการวางไข่จะลดลงเรื่อย ๆ

2) การฟักตัวของไข่จิ้งหรีด เมื่อได้ไข่ที่แม่พันธุ์ไข่ไว้บนขุยมะพร้าวแล้ว ให้ย้ายไข่มาลงบ่อใหม่ที่ได้เตรียมไว้ เรียงแผงไข่และที่กินน้ำของจิ้งหรีดไว้ในบ่อให้เรียบร้อย ซึ่งไข่ของจิ้งหรีดจะมีสีขาวนวล ลักษณะเรียวยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร และจะฟักออกเป็นตัวอ่อนโดยใช้เวลาประมาณ 13-14 วัน หลังย้ายมาบ่อใหม่ ถ้าเป็นฤดูหนาวจะฟักออกเป็นตัวอ่อนช้ากว่า จะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ตัวอ่อนจะมีสีครีมต่อมาเปลี่ยนเป็นสีดำและมีลายม่วง จะลอกคราบ 7 ครั้ง ระยะตัวอ่อนจะอยู่ที่ 30 วัน นับจากวันฟักไข่ และตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 35-40 วันขึ้นไป ตัวจะเปลี่ยนเป็น สีน้ำตาลเข้ม แต่ถ้าเป็นฤดูหนาวหรือมีอากาศเย็นจิ้งหรีดจะไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้อยลง ตัวเต็มวัยอายุจะประมาณ 40-45 วัน

154949 จิ้งหรีดกินอาหาร.jpg

3) การเลี้ยงจิ้งหรีดในวัยตัวอ่อนและโตเต็มวัย เริ่มจากอาหารที่เลี้ยงจะใช้เป็นอาหารสำเร็จรูปชนิดผง ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะที่เป็นของเครือข่ายโดยมีแหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี พี่สุภาพไปรับซื้อต่อมาจากประธานกลุ่มจิ้งหรีดฯ ในราคากระสอบละ 490 บาท ขนาด 30 กิโลกรัม โดยปริมาณการให้อาหารจิ้งหรีดต่อรอบการเลี้ยง 1 บ่อใช้ 2 กระสอบ ใน 1 รอบการเลี้ยง (4 บ่อ) ใช้อาหารจำนวน 8 กระสอบ นอกจากนี้ยังมีอาหารตามธรรมชาติ เช่น ใบไม้ ฟักทอง และลำอ้อย จะให้จิ้งหรีดกินเมื่อมีอายุประมาณ 40 วัน หรือก่อนเก็บจิ้งหรีด 1 สัปดาห์ ส่วนการให้น้ำ เมื่อตัวเล็ก ๆ จะกินน้ำประมาณ 3 แก้วต่อวัน ใช้ถาดใส่ขุยมะพร้าวให้จิ้งหรีดดูดกินน้ำ และเมื่อตัวเต็มวัย อายุประมาณ 35 วันขึ้นไปจะกินน้ำประมาณ 4-5 แก้วต่อวัน และเปลี่ยนมาใช้ถาดให้น้ำแทน

4) โรคและศัตรูของจิ้งหรีด จิ้งหรีดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยมีโรคและศัตรูรบกวนมาก สิ่งที่จะเป็นอันตรายกับจิ้งหรีด คือจิ้งหรีดได้รับอาหารที่ไม่สะอาด เกิดเชื้อรา การถูกตุ๊กแกและจิ้งจกเข้ามากินในบ่อ ซึ่งมีวิธีป้องกัน คือ การให้อาหารที่มีจำนวนพอเหมาะกับจำนวนจิ้งหรีด เมื่อเก็บจิ้งหรีดหมดแล้วให้ทำความสะอาดบ่อ ก่อนที่จะนำจิ้งหรีดรุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง ในส่วนของสัตว์ศัตรู เช่น มด จิ้งจก ไร และแมงมุม สามารถป้องกันได้โดยใช้ตาข่ายคลุมให้มิดชิด

"การดูแลเอาใจใส่ และความขยันเหมือนกับการทำไร่อ้อย หากไม่มี การดูแล ผลผลิตที่ได้จะไม่คุ้มทุน ดังนั้นการเลี้ยงจิ้งหรีดก็เช่นกัน ต้องดูแล ทำความเข้าใจและหมั่นสังเกตลักษณะนิสัยของจิ้งหรีดเรา เรื่อย ๆ เพราะแต่ละพื้นที่สภาพแวดล้อมก็แตกต่างกันไป" 

พี่สุภาพได้ เน้นการความสำคัญของการมีวินัยในการดูแลจิ้งหรีด

 5) การเก็บรวบรวมจิ้งหรีดจากบ่อ การจับจิ้งหรีดจะเริ่มจากนำแผงไข่ออกจากบ่อเลี้ยง ก่อนนำแผงไข่ออกจากบ่อเลี้ยง ให้สลัดตัวจิ้งหรีดออกให้หมด จากนั้นนำแผงไข่มาผึ่งไว้กลางแดด แล้วจึงเก็บจิ้งหรีดใส่กะละมัง นำจิ้งหรีดไปน็อคในน้ำเดือด อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แล้วจึง นำขึ้นมาจากน้ำร้อน ล้างในน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้จิ้งหรีดไม่มีกลิ่น แล้วนำจิ้งหรีดไปผึ่งไว้ให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำจิ้งหรีดมาคัดแยกไซส์เพื่อเตรียมส่งขาย

สำหรับช่องทางการจำหน่าย พี่สุภาพได้นำจิ้งหรีดส่งขายให้กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านหนองโสน (ฟาร์มจิ้งหรีด ออลบั๊กส์) ในรูปแบบการคัดไซส์ตามขนาดน้ำหนัก เช่น จิ้งหรีดจำนวน 100 ตัวต่อ 1 ขีด ราคาประมาณ 80 บาท จิ้งหรีดจำนวน 80 ตัว ตัวต่อ 1 ขีด ราคาประมาณ 85 บาท

สำหรับต้นทุนการผลิต พี่สุภาพให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นก่อนลงมือเลี้ยง ต้องสร้างโรงเรือนเลี้ยงราคาประมาณ 25,000 บาท บ่อเลี้ยงขนาดมาตรฐาน กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร จำนวน 4 บ่อ ราคาประมาณ 20,000 บาท และค่าอาหารในการเลี้ยงกระสอบละ 490 บาทต่อ 1 รอบการเลี้ยง จะใช้อาหาร 2 กระสอบต่อบ่อ ต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงแต่ละรอบ จะอยู่ประมาณ 3,920 บาท

ในส่วนของค่าพันธุ์จิ้งหรีดพี่สุภาพจะ ซื้อเป็นไข่มาฟักเองเป็นการลงทุนครั้งแรกในการเลี้ยง โดย 1 บ่อ จะใช้ไข่จำนวน 2 ขัน ราคาขันละ 50 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการลงทุน ครั้งแรกค่าไข่จิ้งหรีด 400 บาท ค่าแผงไข่ จำนวน 2,500 แผง ราคาซื้อเป็นมัด มัดละ 100 แผง ราคา 270 บาท รวมค่าใช้จ่าย ซื้อแผงไข่ 6,750 บาท ค่าอุปกรณ์อื่น ๆ 2,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย ในการลงทุนเพื่อเลี้ยงจิ้งหรีดครั้งแรกประมาณ 58,070 บาท ต้นทุนในการเลี้ยงครั้งต่อไปประมาณ 5,920 บาท ค่ะ ทั้งนี้ครอบครัว พี่สุภาพมีรายได้จากเลี้ยงจิ้งหรีดถึง 70,000 – 80,000 บาทต่อปี เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ใช้ในการเลี้ยงถือว่าการเลี้ยง จิ้งหรีดสามารถสร้างรายได้เสริมได้ดีทีเดียว

หากพี่น้องมิตรชาวไร่ท่านใดที่อ่านแล้วสนใจอยากทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม สามารถนำแนวทางและวิธีการจากพี่สุภาพ ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองได้นะคะ หรือท่านใดอยู่ใกล้อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ จะลองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดกับพี่สุภาพก็ได้เช่นกันค่ะ

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ โดยคุณกรรณิกา ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน

ที่มาภาพ: https://www.agriplusnews.com/

 

ข่าวปักหมุด