สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ก่อนจะเข้าฤดูฝนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สำหรับแปลงอ้อยที่ยังไม่มีแหล่งน้ำในไร่ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอยากให้มิตรชาวไร่วางแผนเตรียมแหล่งน้ำรองรับน้ำฝน เพื่อให้ไร่ของเรามีน้ำไว้ดูแลอ้อยต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตให้ผลผลิตงอกงาม ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว อ้อยต้องการน้ำตลอดฤดูกาลประมาณ 1,500 มิลลิเมตรต่อปี ดังนั้นการเตรียมแหล่งน้ำเพื่อรองรับน้ำฝนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับมิตรชาวไร่ที่มีพื้นที่สำหรับขุดสระน้ำได้ ควรยึดหลักความเป็นจริงของธรรมชาติ โดยการขุดสระน้ำบนที่ดอน และทำคันสูงจะทำให้น้ำไหลเข้าไปไม่ได้ กลายเป็นหลุมร้างไร้ประโยชน์ ควรเลือกบริเวณที่ลุ่มต่ำ โดยสังเกตจากลักษณะบริเวณที่ต่ำนั้นจะมีกรวดถูกน้ำพัดไหลมารวมกัน เมื่อขุดสระด้านล่างจะมีดินดานช่วยเก็บน้ำได้ดี ไม่ควรขุดสระบนเนินดิน นอกจากจะไม่มีน้ำไหลมาเข้าสระแล้ว ข้างล่างยังเป็นดินร่วน เก็บน้ำไม่อยู่ น้ำซึมลงใต้ดินไปหมด ซึ่งการขุดสระให้ได้ประโยชน์เต็มที่ ถึงจะเพียงพอใช้ในหน้าแล้ง
ซึ่งในแต่ละวันน้ำในสระจะมีการระเหยออกไปวันละ 3 มิลลิเมตร ดังนั้นการขุดสระเก็บน้ำจะต้องให้ได้ความลึกในระดับที่เหมาะสม เพื่อทำให้มีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่กินเวลาถึง 7 เดือน (พ.ย.-พ.ค.) โดยความลึกของสระเก็บน้ำที่เหมาะสมคือ ระดับ 4-5 เมตร วัดความลึกจากพื้นดินเดิม ซึ่งระดับความลึกนี้จะช่วยเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งอย่างเพียงพอ
ในการขุดสระควรขุดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพราะจะทำให้เสียพื้นที่ขอบสระน้อยที่สุด และเพื่อป้องกันตลิ่งทรุดพัง ควรขุดสระให้มีความลาดเอียงในอัตรา 1 : 1 แต่ถ้าสระน้ำลึก 4 เมตรขึ้นไป จะต้องขุดแบบให้มีตะพัก เพื่อป้องกันตลิ่งทรุดในช่วงน้ำน้อยด้วย โดยดินที่ขุดขึ้นมานั้น หากไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในการถมที่ หรือจำเป็นต้องวางกองรอบขอบสระ ก็ควรให้กองดินอยู่ห่างจากขอบสระ 1-2 เมตร เพื่อป้องกันดินไหลลงสระ ที่สำคัญ อย่ากองดินปิดขอบสระจนหมด ต้องเปิดทางให้น้ำหลากไหลเข้าสระได้ด้วย หากปิดหมดแล้วรอให้ฝนตกลงสระอย่างเดียว น้ำจะไม่มีวันเต็มสระได้เลย
ตัวอย่างการออกแบบหรือหาแหล่งน้ำเสริมนอกฤดูฝน เช่น ถ้าต้องการน้ำเสริมอ้อย 500 มิลลิเมตร หรือประมาณ 6 ครั้งต่อฤดูกาล เฉลี่ยครั้งละ 80 มิลลิเมตร หรือประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตร (คิว) ซึ่งการออกแบบน้ำชลประทานในไร่อ้อย ต้องเลือกวิธีที่ใช้น้ำปริมาณสูงสุดมาออกแบบ โดยการให้น้ำเสริมอ้อยที่มิตรผลใช้ แนะนำการให้น้ำแบบ น้ำหยด (ใช้นำ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) ถ้าเรามีพื้นที่ 10 ไร่ จะต้องขุดสระพื้นที่ 1 ไร่ ต้องให้น้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร นี่คือตัวเลขที่ต้องสร้างแหล่งน้ำ ทั้งนี้โดยปกติเราไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีน้ำนอนก้นโดยประมาณ 20% ที่นำมาใช้ไม่ได้ เราจึงต้องออกแบบปริมาณเพิ่มเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรนั่นเองค่ะ
สำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถขุดสระน้ำขุดสระได้ มิตรชาวไร่ต้องมองหาศักยภาพอื่นต่อไป เช่น น้ำใต้ดิน หรือน้ำบาดาล เป็นต้น แต่หากไม่มีการบริหารจัดการน้ำเลย ปล่อยให้น้ำรอรับน้ำฝนอย่างเดียว ผลผลิตจากอ้อยอาจไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะจากการศึกษาพบว่า แปลงอ้อยที่ไม่มีแหล่งน้ำเสริมอ้อย มีผลผลิตเฉลี่ย 8-9 ตันต่อไร่ แปลงอ้อยที่มีน้ำ แต่ขาดการบำรุงรักษาอย่างอื่น ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 12-15 ตันต่อไร่ แต่แปลงอ้อยที่ดูแลทั้งเรื่องน้ำ ปุ๋ย วัชพืช และการจัดการอย่างอื่น ได้ผลผลิต 20-30 ตันต่อไร่เลยทีเดียวค่ะ
ดังนั้นก่อนฝนจะมา อย่าลืมวางแผนเตรียมแหล่งน้ำรองรับน้ำฝน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ดูแลอ้อยต่อเนื่องตลอดทั้งปีนะคะ
ขอบคุณที่มา
https://www.kubotasolutions.com/