หน้าแรก

BONSUCRO (บองซูโคร) มาตรฐานสากลที่เกิดจากรวมกลุ่มของนักวิชาการ ชาวไร่อ้อยและภาคเอกชน ซึ่งก่อตั้งเป็นหน่วยงานที่ไม่หวังผลกำไร เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานการผลิตอ้อยและน้ำตาลให้มีความยั่งยืนต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในประเทศผู้ผลิตอ้อยขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็จะมีมาตรฐานควบคุมการผลิตอ้อยและน้ำตาลฉบับเดียวกันคือ Bonsucro ซึ่ง Bonsucro มีสมาชิกจากทั่วโลก 458 ราย สมาชิกส่วนใหญ่ได้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าต่อเนื่อง กลุ่มโรงงานผู้ผลิตน้ำตาล และกลุ่มชาวไร่อ้อย โดยมีโรงงานที่ผ่านการรับรอง Bonsucro แล้ว 51 โรงงาน ซึ่งอยู่ในประเทศบราซิล ออสเตรเลีย ฮอนดูรัส และอินเดีย มาตรฐาน Bonsucro ครอบคลุมหลักการสำคัญ ดังนี้

  1. การผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องตามกฎหมาย
  2. การผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องดำเนินการโดยเคารพสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงาน
  3. การผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องมีการบริหารจัดการวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  4. การผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องมีการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์
  5. การผลิตอ้อยและน้ำตาลต้องมีการปรับปรุงธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งหลักการทั้ง 5 ข้อข้างต้นครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ของการผลิตอ้อยและน้ำตาลโดยต้องมีระบบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เริ่มตั้งแต่

  • การตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินก่อนการปลูกอ้อย
  • กระบวนการในระหว่างการปลูกอ้อย
  • การบำรุงรักษาอ้อย
  • การเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อย
  • กระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน
  • การซื้อ-ขายน้ำตาล

ซึ่งในหลักการสำคัญทั้ง 5 ข้อ ประกอบด้วยรายละเอียดย่อยอีกมาก ในที่นี้ขอสรุปประเด็นที่เป็นตัวชี้วัดหลักให้รับทราบกัน หากคณะผู้ประเมินที่เป็นตัวแทนของ Bonsucro มาตรวจสอบแล้วพบว่าตัวชี้วัดหลักไม่ผ่านการประเมินในข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะถือว่าโรงงานนั้นๆ ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ทั้งนี้ตัวชี้วัดหลักได้แก่

  • พื้นที่เพาะปลูกอ้อยต้องไม่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นเขตอุทยานวนอุทยาน ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ
  • พื้นที่ปลูกอ้อยต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นไม่ว่าการเช่าหรือพื้นที่ของตนเอง
  • การใช้น้ำทั้งในการปลูกอ้อยและในโรงงานต้องดำเนินการอย่างถูกต้องและมีใบอนุญาตการใช้น้ำ
  • ต้องไม่ใช้แรงงานเด็กในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาล
  • ต้องมีการควบคุมอายุแรงงาน โดยงานอันตรายแรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี งานไม่อันตรายแรงงานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี
  • ต้องไม่มีแรงงานบังคับ
  • ต้องไม่มีการแบ่งแยกเพศ สีผิว เชื้อชาติ ของแรงงาน
  • นายจ้างต้องจัดเตรียมน้ำดื่มสะอาดไว้ให้ลูกจ้างอย่างเพียงพอเพื่อการบริโภคตลอดทั้งวัน
  • นายจ้างต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้กับแรงงานตามประเภทของงาน
  • นายจ้างต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับแรงงานในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
  • ลูกจ้างในการเกษตร (ปลูกอ้อย บำรุงรักษาอ้อย เก็บเกี่ยว) จะต้องรับทราบและเห็นชอบในอัตราค่าจ้างก่อนการมาทำงาน (หากสามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้จะดีมาก)
  • การใช้สารเคมีในไร่อ้อยทุกชนิดรวมกันต้องไม่เกิน 800 กรัมของสารออกฤทธิ์ /ไร่/ปี
  • ต้องไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามในไร่อ้อย เช่น ฟูราดาน เป็นต้น

ข่าวปักหมุด