หน้าแรก

หากเอ่ยชือ ประพาส นามวิจิตร เชื่อว่าเพื่อนมิตรชาวไร่หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ถ้าบอกว่าเขาคือลูกชายคนโตของ คุณพ่อราชัน นามวิจิตร ทุกคนต้องร้องอ้อกันเลยทีเดียว เพราะว่าไม่มีใครไม่รู้จักมิตรชาวไร่คนดังแห่งบ้านโคกสะอาด จังหวัดชัยภูมิคนนี ผู้ซึ่งเป็นทั่งผู้ใหญ่บ้านนักพัฒนา และผู้นำเทรนด์โมเดิร์นฟาร์มที่ตัดสินใจใช้วิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเป็นคนแรก ๆ วันนี้วารสารมิตรชาวไร่ มีโอกาสได้สัมภาษณ์ลูกไม้หล่นใต้ต้นอย่างคุณประพาส ผู้ที่ได้สืบทอดตำนานเกษตรกรชาวไร่ผู้กล้าคนนี้ว่าคนรุ่นใหม่อย่างเขามีวิธีการอย่างไรในการทำไร่อ้อยในยุคเปลียนผ่านนี้

ความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่

ด้วยวัย 28 ปี เป็นช่วงที่เพิ่งผ่านชีวิตวัยรุ่นมาได้ไม่นาน สำหรับคนวัยเดียวกันหลายคนอาจเพิ่งเริ่มตั้งตัวในอาชีพการงานได้แต่สำหรับคุณประพาส นามวิจิตร ที่แบกรับความรับผิดชอบ ที่ต้องดูแลไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยกว่า 2,000 ไร่ ลูกไร่ประมาณ 10 ราย และโควตาอ้อยอีกกว่า 30,000 ตัน เวทีนี้จึงไม่ใช่พื้นที่สำหรับมือสมัครเล่น

"หลายคนอาจคิดว่าผมเริ่มมาทำไร่อ้อยตอนเรียนจบ เลยคิดว่าเป็นมือใหม่ แต่จริง ๆ แล้วผมเริ่มทำไร่อ้อยมาตั้งแต่ ป.2 ช่วยพ่อทำไร่อ้อยมาโดยตลอด เรียกว่าอยู่กับอ้อยมาทั้งชีวิต ผ่านปัญหาอะไรมาก็เยอะทั้งเรื่องคน เรื่องโรคแมลง เรื่องฝนฟ้าอากาศ ดังนั้นแค่เรื่องอายุเลยไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผม"

คุณประพาส นามวิจิตร หรือ แมค เริ่มเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์ในการทำไร่อ้อย

"สองปีที่แล้วครอบครัวผมมีไร่อ้อยของตัวเองอยู่ประมาณ 800 กว่าไร่ เช่าเขาอีกประมาณ 1,000 ไร่ ตอนนี้พื้นที่ปลูกอ้อย

ทั้งของตัวเองทั้งเช่าเพิ่มมากกว่า 2,000 ไร่แล้ว พอพื้นที่มันมากขึ้นเรื่อย ๆ เราเลยต้องหาวิธีการอะไรใหม่ ๆ ที่จะมาปรับปรุงการทำไร่อ้อย เพื่อให้บริหารจัดการได้ง่ายขึ้นและให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย"

ตอนนี้คุณแมคใช้วิธีการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ทั้งการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน และการใช้ระยะห่างระหว่างแถวที่ 1.85 เมตร เพื่อรองรับเครื่องจักรกลการเกษตร โดยอนาคตหลังรื้อตออ้อยรุ่นนี้ เขายังตั้งใจที่จะใช้วิธีการพักดินปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน (Legume Rotation Crops) ที่ช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้น ช่วยลดการไถพรวนเพื่อทำลายตออ้อยเก่าอย่างรุนแรง เพราะการพักดินมีเวลาให้ตออ้อยย่อยสลายได้นานขึ้น นอกจากนี้การปลูกถั่วจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนในดิน โดยการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมที่ปมรากถั่ว

"ช่วงหลังมานี้ผมเริ่มสังเกตว่าดินที่ใช้เพาะปลูกอ้อยมันเริ่ม เสื่อมคุณภาพลง จากการปลูกอ้อยต่อเนื่องเป็นเวลานาน พอหลังรื้อตอผมเลยลองพักดินและปลูกพืชปรุงบำรุงดินดูน่าจะช่วย ให้ดินกลับมามีสภาพดีขึ้นได้"

การทำไร่อ้อยแบบคนรุ่นใหม่

ขึ้นชื่อว่าเป็นมิตรชาวไร่รุ่นที่ 2 ของตระกูลนามวิจิตร ไม่แปลกที่ คุณประพาส นามวิจิตร จะมีความคุ้นเคยกับเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นรถตัดอ้อยที่ครอบครัวของเขาเป็นรายแรก ๆ ที่เริ่มนำมาใช้ตัดอ้อยเพื่อทดแทนแรงงานคนตัดอ้อยที่หายาก รวมไปถึงพวกเครื่องจักรกลการเกษตรพื้นฐานในการเตรียมดินอย่างริปเปอร์ ซึ่งเขาได้เล่าถึงประโยชน์ของเครื่องจักรกลการเกษตรว่า

"เครื่องจักรกลการเกษตรมันช่วยงานเราได้มากจริง ๆ อย่างตัวเครื่องริปเปอร์ระเบิดดินดาน ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนเตรียมดินเราต้องเจอปัญหาอย่างสภาพพื้นที่ที่เป็นดินดาน ที่ทำให้อ้อยไม่ค่อยเจริญเติบโต การใช้ริปเปอร์ไถระเบิดดินดาน จะช่วยให้น้ำซึมผ่านได้มากขึ้น รากอ้อยก็สามารถหาอาหารได้ลึกขึ้น ลดอัตราการตายของอ้อยจากดินไม่อุ้มน้ำ หรือฝนขาดช่วง"

นอกจากการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยงานในไร่อ้อยแล้ว เกษตรกรรุ่นใหม่อย่างคุณแมค ยังไม่ลืมให้ความสำคัญกับพื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการปลูกอ้อย คือ เรื่องการให้น้ำ "คนรุ่นเราเป็นผู้สืบทอดการทำอ้อยจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ เราจำเป็นต้องทำให้ได้ดีกว่ารุ่นก่อนไม่งั้นมันก็ไม่มีการพัฒนา สมมติว่ารุ่นพ่อแม่ เราได้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่ 12-13 ตัน มารุ่นเราก็ต้องทำให้ได้มากกว่านั้นวิธีการเพิ่มผลผลิตที่ผมคิดไว้ คือ การทำให้อ้อยมีน้ำสำหรับใช้ในการเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ โดยการขุดบ่อบาดาลเพิ่ม ซึ่งผมมองว่าบ่อบาดาลมันดีกว่าการขุดสระขนาดใหญ่เพราะ หนึ่งเราไม่เสียพื้นที่เพาะปลูกไป สองไม่ต้องมารอน้ำฝนที่ตกลงมาจนเต็มบ่อ แต่ทั้งนี้

อาจจะเป็นเรื่องของโชคด้วยที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นบ่อบาดาลจริง มีน้ำไหลตลอดทั้งปีเลยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำหายเป็นช่วง ๆ พอเรา เตรียมปัจจัยเรื่องน้ำไว้ดีแล้ว ที่เหลือก็ไม่ลำบาก รุ่นลูกรุ่นหลานเรา ที่จะมารับช่วงต่อก็หมดห่วงเรื่องน้ำ เอาเวลาไปมุ่งหาวิธีการพัฒนา การปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้" คุณประพาส นามวิจิตร เจ้าบ่าวป้ายแดงของเรา ได้แสดงทัศนวิสัย ที่มองไปไกลกว่าแค่วันนี้ แต่เป็นการเตรียมตัวเพื่อวันพรุ่งนี้สำหรับเจนเนอเรชันต่อไป

รวมแปลงใหญ่มีแต่ได้

จากการที่เป็นครอบครัวชาวไร่รายแรก ๆ ของจังหวัดชัยภูมิ ที่บุกเบิกลงทุนซื้อรถตัดอ้อยเข้ามาใช้งาน โดยพ่อราชัน นามวิจิตร บิดาของคุณแมค ถึงกับเดินทางข้ามทะเลไปประเทศออสเตรเลีย เพื่อหาซื้อรถตัดอ้อยมือสองมาใช้งาน การที่มีรถตัดอ้อยทำให้ต้องหาพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้รถตัดอ้อยทำงานได้คุ้มค่า แต่ปัญหาที่พบ คือ พื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่ในภาคอีสานเป็นพื้นที่ขนาดเล็กกระจายตัวกันอยู่ ทำให้รถตัดอ้อยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัญหานี้เป็นโจทย์สำคัญที่รอให้เกษตรกรชาวไร่รุ่นใหม่แก้ไข

"รถตัดอ้อยจะทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงสุดถ้าไม่นับเรื่อง พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมแล้ว เราต้องมีการเตรียมแปลงรองรับรถตัด มีพื้นที่หัวแปลงไว้สำหรับการกลับรถ มีเส้นทางลำเลียงหลัก ลำเลียงรอง ตามคู่มือ แต่ถ้ามีไม่ครบก็ไม่เป็นไรเอาเท่าที่ได้ (หัวเราะ) จุดที่มีผลมากที่สุดสำหรับรถตัด คือ ความยาวของแปลง ถ้าแปลงยิ่งยาวยิ่งประหยัดทั้งเวลาในการตัด ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะไม่ต้องมาเสียเวลาในการกลับรถบ่อย"

เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของรถตัดยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ตอนนี้แปลงปลูกอ้อยของผมมีการเตรียมแปลงรองรับรถตัดไว้หมดแล้ว ความยาวแปลงตั้งแต่ 200 เมตรขึ้นไป มีแปลงที่ยาวที่สุดยาวเกือบ 700 เมตร รถตัดอ้อยวิ่งทีหนึ่งตัดอ้อยได้เกือบเต็มรถกล่อง ประหยัดกว่าแปลงสั้น ๆ ที่ต้องคอยกลับรถถี่ ๆ มาก"

อนาคตเกษตรกรหนุ่ม ยังมีแผนที่จะหาแปลงปลูกอ้อย ที่มีลักษณะยาวขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า แปลงที่มีความยาวที่เหมาะสมสามารถช่วยลดต้นทุนการตัดอ้อยได้มากกว่า โดยเขาใช้วิธีเช่าที่ดิน รวมถึงการเจรจาให้ความรู้กับลูกไร่ที่มีพื้นที่แปลงปลูกอ้อยอยู่ติดกันให้รวมแปลงเพาะปลูกเป็นแปลงใหญ่

"ตอนนี้มีลูกไร่ 3 รายแล้วที่ลองมารวมแปลงปลูกอ้อย ความยาวของแปลงก็อยู่ประมาณ 400 เมตร พื้นที่รวมเกือบ 300 ไร่ ซึ่งเราใช้รถตัดอ้อยคันเดียว แต่แยกรถกล่อง วิธีนี้จะช่วยทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ลูกไร่ก็พอใจไม่ต้องเว้นพื้นที่หัวแปลงให้เปลืองพื้นที่ แถมยังทำงานได้เร็วกว่าเดิมอีกด้วย"

อ้อยคือชีวิต

พอถามเหตุผลว่าทำไมคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่างเขาถึงมาปลูกอ้อย คนพูดน้อยอย่างคุณแมคกลับตอบทันทีเลยว่า "ตั้งแต่ผมเรียนจบ ม.6 ที่โรงเรียนภูเขียว ก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อ ลงมาทำอ้อยเต็มตัว เราเคยช่วยที่บ้านทำอ้อยมาตั้งแต่เล็ก อยู่กับอ้อยมาตั้งแต่เกิด อ้อยมันเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว แทบไม่ต้องตัดสินใจเลยว่าจะมารับช่วงต่อการทำไร่อ้อย เพราะตั้งแต่ตอนเด็กแล้ว พ่อไปลงไร่ตอนไหนเราก็ตามไปด้วยตลอด เห็นต้นอ้อยแล้วมีความสุข อ้อยสำหรับผมมันเป็นความคุ้นเคย มันคือชีวิต ที่ทำเราให้มีอาชีพ มีงานทำ มีเงินใช้ มีข้าวกินอยู่ทุกวัน"

นอกจากการใช้วิธีครูพักลักจำการปลูกอ้อยจากพ่อของเขาแล้วคุณแมคยังได้ศึกษาเรียนรู้การทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเพิ่มเติมกับทางมิตรผล โดยเฉพาะการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรสมัยใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นความได้เปรียบที่จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยุคใหม่

ตอนนี้ผมมีที่ปลูกอ้อยของตัวเองจริง ๆ อยู่ประมาณ 600 ไร่ ทำแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มทังหมด ผมตั้งใจว่าจะทำให้คนรุ่นเดียวกันดูว่า เส้นทางชีวิตของคนเราไม่ต้องเรียนจบปริญญามาเป็นมนุษย์เงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราสามารถเลียงตัวเองได้ด้วยการทำเกษตรกรรม มันอาจจะดูยากลำบากหน่อยๆ ในสายตาของคนทีไม่เคยผ่านความลำบากอะไรเลย แต่ถ้าได้ลองลงมือทำแล้วจะรู้ว่ามันก็ไม่ได้ยากอย่างทีคิด อาจจะดูไม่สวยหรู ไม่ได้นังในออฟฟิศติดแอร์ แต่ปลูกอ้อยเราเป็นนายตัวเองเวลา เหนือยเราก็พักได้ สามารถหาเงินเลี้ยงชีวิต ส่งลูกเรียนหนังสือ ได้เหมือนกัน เผลอ ๆ อาจจะมีรายได้ดีกว่าอีกด้วย (หัวเราะ)

ข่าวปักหมุด