หน้าแรก

ฮัลโหลลลลล! มิตรชาวไร่ที่น่ารักทุกท่าน ใครอยากรู้จักฮีโร่ผู้พิทักษ์ตัวใหม่ที่จะมาช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในไร่อ้อยของเรา ตามแบบฉบับการทำไร่มาตรฐาน BONSUCRO ลดการใช้สารเคมี ใช้ชีววิธีปราบมารไร่อ้อย เชิญทางนี้นะเจ้าคะ เพราะมิตรผลเรามีแมลงตัวดีที่ช่วยกำจัดหนอนกออ้อยมาฝากค่ะ ซึ่งเจ้าตัวนี้ คือ “แมลงหางหนีบ” ซึ่งเป็นแมลงตัวห้ำอีกประเภทหนึ่ง หลายคนคงรู้จักและเคยเห็นมาบ้างแล้วนะคะ เดี๋ยวเรามาเจาะลึกประวัติส่วนตัวของมันดีกว่า ว่ามีดีอะไรทำไมถึงถูกยกย่องให้เป็น ผู้พิทักษ์ไร่อ้อย

แมลงหางหนีบ มีหลายชนิด ทั้งแมลงหางหนีบสีดำ แมลงหางหนีบสีน้ำตาล และแมลงหางหนีบขาวงแหวน ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติใช้ควบคุมศัตรูพืชต่างกัน เช่น แมลงหางหนีบสีน้ำตาล ใช้ควบคุมหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด ส่วนแมลงหางหนีบขาวงแหวน ใช้ควบคุมหนอนกออ้อย

ลักษณะเด่นของแมลงหางหนีบ มีแพนหางรูปคีม ใช้ในการจับเหยื่อ ป้องกันตัว สร้างรัง และช่วยในการผสมพันธุ์ ลำตัวเล็กยาวรีค่อนข้างแบน ยาวเฉลี่ย 4-18 มิลลิเมตร

แหล่งที่พบ แมลงหางหนีบชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามซอกตามใบพืช  หรือตามซอกดินที่มีเศษซากพืชหรือใบไม้ที่มีความชื้นพอเหมาะ ส่วนตัวเต็มวัยจะวางไข่ในดิน

ความสำคัญ ช่วยควบคุมประชากรของแมลงศัตรูพืชหลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน ชนิดต่าง ๆ หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด  หนอนกระทู้ข้าวโพด  หนอนเจาะสมอฝ้าย  หนอนเจาะเปลือกลำต้นลองกอง หนอนกออ้อย  แมลงดำหนามมะพร้าว  ไข่และหนอนของด้วงกุหลาบ เป็นต้น 

ลักษณะการทำลาย แมลงหางหนีบจะหลบซ่อนตัวอยู่ภายในลำต้นและตามซอกกาบใบ  หรือตามซอกดินที่มีเศษใบไม้ สามารถหาเหยื่อตามซอกมุมได้ดี จะทำลายเหยื่อที่เป็นตัวหนอนด้วยแพนหางซึ่งมีลักษณะคล้ายคีม หนีบลำตัวเหยื่อแล้วกินเป็นอาหาร แต่ถ้าเป็นเพลี้ยอ่อนก็จะกัดกินโดยตรง แมลงหางหนีบจึงเป็นแมลงที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด

การเลี้ยงและขยายพันธ์ แมลงหางหนีบ สำหรับมิตรชาวไร่ที่สนใจเลี้ยงแมลงหางหนีบไว้ใช้เอง มีวิธีง่าย ๆ คือ นำแมลงหางหนีบตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียจำนวน 50 ตัว  ที่เก็บจากธรรมชาติมาเลี้ยงในกล่องพลาสติกทรงกลมที่บรรจุดินผสมวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น ดิน  แกลบดำ หรือขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 2 : 1 : 1  แล้วพ่นน้ำให้ชื้น  แล้วให้อาหารเป็น เพลี้ยอ่อน แมลงศัตรูพืชอื่นๆ หรือใช้อาหารแมวบดละเอียดก็ได้ ควรเปลี่ยนอาหารสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  และรักษาความชื้นของดินและวัสดุผสมให้มีความชื้นอยู่ตลอดเวลา

การนำไปใช้ประโยชน์ แมลงหางหนีบ 1 ตัวสามารถกินหนอนกออ้อยได้ 6 - 10 ตัวต่อวัน โดยทั่วไปใช้ในอัตราไร่ละ 1,000 ตัว ให้ปล่อยช่วงเย็นและกระจายทั่วแปลง ในแปลงควรมีความชื้นและแหล่งหลบอาศัยได้

ท่านที่สนใจเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบเพื่อใช้ในการกำจัดควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยชีววิธี สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเขตส่งเสริมใกล้บ้านท่าน หรือ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 0-2579-4580 หรือที่เว็บไซด์ www.doa.go.th/plprotect/

ขอบคุณข้อมูลจาก : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร

ข่าวปักหมุด