หน้าแรก

หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยเสร็จ และว่างเว้นจากการพักดินปลูกถั่วตามหลักสี่เสาพลัส MPMF อยากให้เพื่อนมิตรชาวไร่มาอ่านบทความนี้ เพื่อเฝ้าระวังโรคอันตราย ไม่ให้เกิดกับอ้อยของเราในฤดูกาลถัดไปค่ะ วันนี้ขอแนะนำ โรคใบขาวก่อนเลย

โรคใบขาวคืออะไร

โรคใบขาวเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา (Phytoplasma) ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กคล้ายแบคทีเรีย ไม่มีผนังเซลล์ มีเพียงเยื่อบาง ๆ หุ้มส่วนประกอบของเซลล์ไว้ รูปร่างจึงไม่แน่นอน ตั้งแต่กลมจนถึงกลมรี หรือรูปไข่ เชื้อดังกล่าวอาศัยอยู่ตามท่ออาหารในส่วนต่างๆของอ้อย พืชอาศัย หรือในแมลงพาหะ พบได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของอ้อย จะเจอระยะต้นกล้าและระยะแตกกอมากกว่าอ้อยโต และพบในอ้อยตอมากกว่าอ้อยปลูก อ้อยที่เป็นโรคอาจไม่ให้ผลผลิต หรือให้ผลผลิตได้บ้าง แต่ผลผลิตจะลดลงมากและไม่สามารถไว้ตอได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

 วิธีเช็คว่าอ้อยเป็นโรคใบขาวหรือไม่นั้น ดูได้ดังนี้ค่ะ

  • อ้อยต้นเล็ก ในระยะแรกใบจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเขียวอ่อน หรือขาวซีด อาจพบแถบสีขาวหรือสีครีมหนึ่งแถบหรือหลายแถบ ขนานไปตามความยาวใบ บางครั้งความยาวของแถบอาจเลยไปถึงกาบใบ ขนาดของใบจะแคบเล็กกว่าปกติไปจนถึงแตกฝอย ส่วนใหญ่อาการแตกฝอยจะพบในอ้อยตอ ต่อมาใบจะขาวทั้งใบและแห้งตาย
  • อ้อยโต อาจแสดงอาการยอดขาว หรือใบอ้อยอาจมีสีเขียวปกติแต่ส่วนยอดจะพบใบเป็นกระจุกและมีปล้องสั้น บางครั้งอาจพบหน่อแตกใหม่บริเวณโคนต้นและมีสีขาว อ้อยดังกล่าวเป็นอ้อยที่มีอาการแฝงของโรค หากนำไปใช้เป็นท่อนพันธุ์จะเพิ่มการแพร่กระจายโรคออกไปอีก

วิธีจัดการเมื่ออ้อยติดโรคใบขาว

  1. กำจัดอ้อยที่เป็นโรคไม่ให้แพร่เชื้อ โดยหมั่นตรวจแปลงอ้อยเป็นประจำ ถ้าเจอว่าเป็นโรค ให้ขุดหรือทำลายอ้อยทันที หรือฉีดพ่นด้วยสารกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเสท 1%) หากอ้อยเป็นโรคเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ควรไถทิ้ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคค่ะ
  2. การปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งหากทำไร่ตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม การปลูกถั่วสลับอ้อย จะเป็นการตัดวงจรของโรคใบขาวได้ โดยเฉพาะแปลงที่เคยระบาดของโรคมาก่อน
  3. การจัดหาแปลงพันธุ์อ้อยไว้ใช้เอง การใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งอื่นมาปลูก มีความเสี่ยงต่อโรคใบขาว ถึงแม้ท่อนพันธุ์จะไม่แสดงอาการของโรคก็ตาม ดังนั้นหากมิตรชาวไร่สามารถทำแปลงพันธุ์ไว้ใช้เองได้ จะเป็นวิธีการสำคัญในการควบคุมคุณภาพท่อนพันธุ์ตรงตามพันธุ์ ความงอกและความแข็งแรง รวมถึงการปลอดโรค ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการระบาดของโรคใบขาวลงได้
  4. การจัดการแปลงอ้อยที่เหมาะสม มีผลวิจัยทางการเกษตรหลายแห่งชี้ให้เห็นว่าการเผชิญกับสภาวะที่ทำให้อ้อยเครียด เช่น ฝนแล้งหรือทิ้งช่วงนาน ๆ หรือน้ำท่วมขัง ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดความสมดุลของธาตุอาหาร ดินเป็นกรดหรือด่างเกินไป หรือดินแน่นเกินไป รวมถึงการที่อ้อยไม่สามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ จะทำให้อ้อยเป็นโรคใบขาวได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ดังนั้นการจัดการอ้อยให้มีการเจริญเติบโตดี และมีความแข็งแรง เช่น การจัดการน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินให้มีสภาพที่เหมาะสม ทั้งในด้านกายภาพและทางเคมี จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
  5. การเลือกช่วงปลูกอ้อยให้เหมาะสมตามเวลาที่ใช่ เช่นการปลูกอ้อยข้ามแล้ง เพื่อให้อ้อยเจริญเติบโตพ้นระยะที่อ่อนแอต่อแมลงพาหะของโรคที่มีมากในฤดูฝน โดยวิธีนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการจัดการดินเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ในดินให้ได้มากที่สุด เช่นการไถระเบิดดินดาน การให้น้ำเสริมในช่วงที่กระทบแล้งนาน ๆ หรือการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพของดินให้สามารถอุ้มน้ำได้มากขึ้น การปฏิบัติแบบนี้จะช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและโตคลุมดินได้ในช่วงต้นฤดูฝน ซึ่งทำให้แข่งขันกับวัชพืชได้ดียิ่งขึ้นด้วย

เมื่อรู้จักโรคใบขาวละเอียดแล้ว ฤดูกาลหน้าหรือฤดูกาลไหนๆ โรคร้ายนี้จะไม่เกิดกับอ้อยของมิตรชาวไร่แน่นอนค่ะหากทุกคนใส่ใจสุขภาพอ้อยตั้งแต่ก้าวแรกอย่างการเตรียมดินเพื่อตัดวงจรโรค ตลอดจนการเลือกท่อนพันธุ์ที่สะอาดใสไร้มลทิน

ข่าวปักหมุด