หน้าแรก

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา "เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ" ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีค่าเกินมาตรฐาน บางจุดระบุได้ว่ามีค่าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นดังกล่าวยังถูกจับตาและติดตามอย่างต่อเนื่องจากประชาชน

ไม่เพียงแต่กรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ทุกจังหวัดทั่วทุกภาคของไทยยังเกิดวิกฤต PM 2.5 เกินมาตรฐานกันหลายพื้นที่ หนักหน่วงขั้นสุดเห็นจะเป็น 9 จังหวัดทางภาคเหนือของไทย อาทิ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง แม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะเชียงใหม่ ที่มีค่าฝุ่นครองแชมป์อันดับ 1 ของโลก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย

ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้นำประเทศอย่างท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงพื้นที่ร่วมประชุมหารือกับผู้ว่าราชการ 9 จังหวัดที่เกิดวิกฤต PM 2.5 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งลดปัญหาผลกระทบช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า การระดมฉีดน้ำตามจุดต่าง ๆ รวมถึงนำเครื่องบินขนน้ำกว่า 100 เที่ยวดับไฟป่า 500 ไร่ที่แม่ฮ่องสอน และเกิดพายุฤดูร้อนบางจุดที่ทำให้ฝน ช่วยบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นตรงนี้ไปได้บ้างแล้ว แต่ใครล่ะ จะมาฉีดน้ำได้ทุกวัน ฝนจะตกได้ตลอด หากประชาชนทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาให้ตรงจุด ฝุ่นพิษตัวนี้ก็จะยังคงวนเวียนอยู่ในอากาศ เพราะเมื่อฝุ่นเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีสิ่งใดกำจัดฝุ่นออกไปได้ นอกจากเราจะไป “หยิบ” นำมาทิ้ง หรือ “น้ำ” ที่ช่วยดักจับให้ฝุ่นตกลงมาได้

จำเลยหลักของปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “การเผา” คือตัวการหลักที่สังคมตราหน้าว่านี่แหละ ตัวทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งเผาป่า เผาหญ้า เผาเศษวัสดุการเกษตร และแน่นอนว่า “การเผาอ้อย” ก่อนตัด ก็เป็นอีกประเด็นที่สังคมจับตามอง เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของประเทศ ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก

คำถามที่ตามมาคือ “เผาทำไมเมื่อรู้ว่าการเผาทำลายสภาพอากาศ ?” คำตอบของเกษตรกรชัดเจนในจุดยืนที่หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์แก้ไขปัญหานี้อยู่แล้ว นั่นคือ “เพราะขาดแคลนแรงงาน” ถ้าไม่เผาอ้อย ก็ไม่มีคนงานเข้าไปตัดอ้อย เถ้าแก่อ้อยส่งอ้อยไม่ทันหีบเข้าโรงงาน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานตัดอ้อยขาดแคลนร่อยหรอลงทุกปี สวนทางกับปริมาณไร่อ้อยที่ปลูกกันกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ

การเผาอ้อยเกิดขึ้นมานานจนหลายคนเรียกว่าเป็นประเพณี ทำให้เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอ้อย จึงเกิดฝุ่นควันไฟจากการเผาตามมา สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน เมื่อฝุ่นจากการเผาอ้อย ผนวกกับควันดำจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงยานพาหนะ ฝุ่นจากการก่อสร้าง การเผาขยะตามแหล่งชุมชน รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรม จึงทำให้ PM 2.5 มาสร้างปัญหาให้กับประเทศจนติดอันดับโลกแบบนี้

ในฐานะเกษตรกรชาวไร่อ้อย เรามีทางเลือกที่จะร่วมกันช่วยประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากในปีต่อไป ด้วยการเลือกตัดอ้อยสด ซึ่งมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ได้อ้อยที่มีคุณภาพ น้ำหนักดี มีค่าความหวานผ่านเกณฑ์ ที่สำคัญได้รับโบนัสจากค่าอ้อยสดอีกด้วย ในทางกลับกัน หากยังเลือกเผาอ้อยก่อนตัด ที่มีค่าความหวานต่ำ ถูกหักค่าไฟไหม้ไปเป็นโบนัสให้อ้อยสดแล้ว ยังเป็นตัวการสำคัญที่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือ กรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ปัจจุบันเทคโนโลยีการเกษตรถูกพัฒนาไปอย่างมาก “รถตัดอ้อย” ก็เช่นเดียวกัน หากเกษตรกรมีการวางรูปแบบแปลงที่รองรับการทำงานของรถตัด ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนเข้าไปตัดอ้อยอีกต่อไป หรือหากยังขาดเงินลงทุนกับเครื่องจักร เกษตรกรก็สามารถรวมกลุ่มกันให้เป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อหารถตัดมาใช้งานในกลุ่มได้

จะเห็นว่าทางออกมีให้เลือกหลายทาง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเกษตรกรชาวไร่อ้อยเองว่า “จะตัด” หรือ “จะเผา” ถ้าเลือกเผา ก็จงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดจากฝุ่นควันกันต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน หากเลือกวางแผนตัดอ้อยสด ก็เตรียมตัวเปิดกระเป๋าให้กว้างรอรับเงินจากการขายอ้อยสดที่ได้อ้อยดี มีคุณภาพ ให้โบนัสงาม ๆ ที่หักมาจากคนขายอ้อยเผากันต่อไป

ข่าวปักหมุด