แม้อ้อยจะเป็นพืชไร่ที่แข็งแรง ทนทาน แต่ “น้ำ” ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตสมวัย ลำต้นสูงใหญ่ ให้ความหวานดี อ้อยจะได้รับน้ำอย่างชุ่มจาก “น้ำฝน” ที่ค่าเฉลี่ยปีละ 1,000 มิลลิเมตร ปริมาตรเท่านี้ไม่เพียงพอต่อการเจริญเต็มที่ของอ้อย ดังนั้นหากมิตรชาวไร่อยากมี ไร่อ้อยดี ต้องมีแหล่งน้ำเสริมในแปลงปลูกอ้อยด้วย
แนวคิดการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ให้ความสำคัญกับน้ำ (irrigation) ที่เป็นหัวใจของการเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อย ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น การขุดสระ หรือ บ่อบาดาลน้ำตื้น
การขุดสระเก็บน้ำโดยทั่วไปมีลักษณะแบบการขุดเหวี่ยงขึ้นคันสระ มีชาญพักสระ และมีทางรับน้ำเข้า ควรขุดบริเวณที่ต่ำที่สุดของพื้นที่ มีความลาดเอียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้พื้นที่ทั้งไร่เป็นส่วนรับน้ำให้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าสระเร็วขึ้น ส่วนวิธีการใช้น้ำ อาศัยต้นกำลังขนาดเล็ก เช่น ปั๊มหอยโข่ง เครื่องสูบน้ำเบนซิน เพื่อสูบน้ำและส่งน้ำให้กระจายทั้งแปลง โดยขนาดของสระควรออกแบบให้มีปริมาณน้ำใช้ได้ 2-3 ครั้ง แบบ Supplement Irrigation (การเสริมน้ำ) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
สระเก็บน้ำควรมีพื้นที่รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ | |
ความลึกไม่น้อยกว่า | 3 เมตร |
ความลาดชันด้านข้าง | 1 : 1.5 |
สระเก็บน้ำขนาด | 1,260 ลบ.ม. |
เทียบเท่าปริมาณน้ำฝน | 750 มม. |
งบประมาณต่อสระ | 25,200 บาท |
ทั้งนี้การขุดสระน้ำขึ้นอยู่กับขนาดและความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย บางที่มีปัญหาเรื่องชั้นดินเป็นกรวดทรายที่ไม่อุ้มน้ำ ไม่สามารถขุดสระน้ำได้ ต้องหาวิธีสร้างแหล่งน้ำเสริมอย่างอื่น เช่น น้ำใต้ดินหรือบ่อบาดาล เป็นต้น
การขุดเจาะบ่อบาดาลไม่สามารถขุดเจาะได้ทุกที่ เนื่องจากปริมาณน้ำใต้ดินมีความแตกต่างทั้งเรื่องปริมาตรและคุณภาพของน้ำ น้ำใต้ดินที่เป็นน้ำบาดาลโดยส่วนใหญ่ต้องอยู่ลึกกว่า 20 เมตร อยู่ในโพรงใต้ชั้นหินหรือชั้นดินแข็ง และเขตภาคอีสานส่วนใหญ่ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย มีตั้งแต่ 2-20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มีจำกัด จำเป็นต้องมีการให้น้ำแบบ Supplement Irrigation จำนวน 2-3 ครั้งเพื่อเสริมปริมาณน้ำฝนปกติ การเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นมีรายละเอียด ดังนี้
บ่อบาดาลควรมีพื้นที่รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า | 15-30 ไร่ |
บ่อบาดาลแบบเปิด ขนาด | 5 นิ้ว |
ลงท่อกันทรุดระดับชั้นหินหรือดินแข็ง | |
ปริมาณน้ำไหลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า | 4 ชั่วโมง |
ปริมาณน้ำบาดาล | 6 ลบ.ม./ชม. |
งบประมาณต่อบ่อ | 32,000 บาท |
การใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำบาดาล โดยส่วนใหญ่จะใช้ปั๊มหอยโข่ง ที่มีระยะดูดได้ไม่เกิน 6 เมตร และใช้ปั๊มน้ำบาดาล (Submersible Pump) ในระดับน้ำลึกเกินกว่า 6 เมตร ซึ่งใช้ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปหรือจากเครื่องปั่นไฟเท่านั้น
จากการศึกษาของกลุ่มมิตรผลเรื่องให้น้ำเสริมอ้อย พบว่า แปลงอ้อยที่ไม่มีแหล่งน้ำเสริมอ้อย มีผลผลิตเฉลี่ย 8-9 ตันต่อไร่ แปลงอ้อยที่มีน้ำ แต่ขาดการบำรุงรักษาอย่างอื่น ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 12-15 ตันต่อไร่ แต่แปลงอ้อยที่ได้รับน้ำและการบำรุงรักษาตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตได้ถึง 20-30 ตันต่อไร่เลยทีเดียว
เพราะฉะนั้น สามารถสรุปได้ว่า “น้ำ” ช่วยตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มผลผลิตจากอ้อยได้เป็นอย่างดี.