หน้าแรก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพี่น้องเกษตรกรไทย เพราะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการดูแล สนับสนุน ให้เกษตรกรไทยกว่า 6.6 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 149 ล้านไร่ ให้สามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน ทำให้คุณภาพชีวิตดีอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งประกาศยุทธศาสตร์ชาติให้ทุกมิติของประเทศไทยเป็น 4.0

จากเกษตรกรรมแบบเดิมก็เปลี่ยนเป็น เกษตรอัจฉริยะ หรือ SMART AGRICULTURE โดยนำเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ในการสร้างผลผลิตไปสู่สังคมเกษตรสมัยใหม่หรือเกษตรกรรม 4.0 เพื่อให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ สอดคล้องกับความต้องการตลาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สิ่งเหล่านี้จะให้เกษตรกรโซโลเองเลยคงเป็นไปได้ยาก ภาครัฐอย่างกระทรวงเกษตรฯจึงต้องมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อมาทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนา และขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งในปี 2562 จะเกิดการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้เป็นรูปธรรมใน 3 ด้าน ดังนี้

  1. การจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิต ใน 6 พืช ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด และมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ พร้อมทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลด้านต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดทำ Big Data ด้านเกษตรอัจฉริยะสำหรับการประมวลผล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจ และช่วยกำหนดแนวทางการทำการเกษตรอัจฉริยะต่อไปในอนาคต
  2. การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) เพื่อสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยขับเคลื่อนการใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะในกระบวนการผลิต เชื่อมโยงเข้าสู่การจัดทำ Big Data ทางการเกษตร และประมวลผล ณ ศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเกษตร (War room) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจและกำหนดแนวทางการเกษตรอัจฉริยะต่อไป
  3. การจัดทำแผนแม่บท หรือ Roadmap ขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานของกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชน และหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากร และให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

ซึ่งผลลัพธ์ของการทำเกษตรอัจฉริยะที่ทุกหน่วยงานคาดหวังคือ ช่วยลดความสูญเสีย ลดต้นทุน ลดปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ปุ๋ยเคมี น้ำ และการใช้แรงงานคน ตลอดจนเพิ่มปริมาณคุณภาพผลผลิตและรายได้เกษตรกร สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำ เพื่อสนับสนุนด้านการตลาด และช่วยในการวางแผนการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วยกำหนดตลาดล่วงหน้า อันจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรได้

ในฐานะเกษตรกรคนไทย ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเกษตรอัจฉริยะ เราทุกคนต้องไม่หยุดพัฒนาตัวเอง อนาคตอันใกล้นี้ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงจากเกษตรกรธรรมดาคนหนึ่ง สู่การเป็น Smart Farmer อย่างสมบูรณ์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยให้ก้าวไกลสู่สากลอย่างยั่งยืน.

ขอบคุณที่มา: https://www.moac.go.th/news-preview-411191791414

ข่าวปักหมุด