มิตรชาวไร่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า “ดิน” คือปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกอ้อย หากแปลงอ้อยของเราดินอุดมสมบูรณ์ดี นั่นก็แปลว่าผลผลิตอ้อยต่อไร่ก็มีแนวโน้มที่จะดีตาม ซึ่งดินอุดมสมบูรณ์นั้นต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เหมาะสม โดยเฉพาะมี “อินทรียวัตถุ” มากเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอ้อย
อินทรียวัตถุมีความสำคัญต่อคุณสมบัติต่าง ๆ ของดิน เนื่องจากอินทรียวัตถุในดินจะเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของดินทั้งทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ ซึ่งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของอ้อย หากดินแปลงใดมีอินทรียวัตถุอยู่สูง ดินแปลงนั้นจะอุดมสมบูรณ์ เป็นดินที่มีโครงสร้างที่ดี สามารถถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี อีกทั้งสามารถรักษาความชุ่มชื้นในดินไว้ได้นาน มีความสามารถดูดซับธาตุอาหารที่ได้จากปุ๋ยเคมีไว้ได้นานและค่อย ๆ ปล่อยให้รากอ้อยดูดนำไปใช้
อย่างไรก็ตามอินทรียวัตถุในดินสามารถลดลงได้ ซึ่งการลดลงของอินทรียวัตถุจะทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ และอาจกลายสภาพเป็นดินเสื่อมโทรมต่อไป
จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาเราสามารถฟื้นฟูบำรุงดินเพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้ โดยการใช้ปุ๋ยพืชสดจากการปลูกพืชตระกูลถั่ว การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือการใส่กากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน
แต่ทั้งนี้ นอกจากภารกิจในการเพิ่มอินทรียวัตถุแล้ว การชะลออัตราการลดลงของอินทรียวัตถุก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะควรงดกิจกรรมที่เป็นการทำลายหน้าดิน งดตัดอ้อยเผาใบที่เป็นการทำลายเศษซากใบที่จะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ แล้วเปลี่ยนมาเป็นการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดิน ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดินได้เป็นอย่างดี
ข้อมูล : http://www.ocsb.go.th/
ภาพประกอบ :
1. https://www.thaiagrinews.org/news/article_154
2. https://www.thaigreenagro.com/