- ข่าวสารมิตรชาวไร่
- จ., 17 ส.ค. 63
สวัสดีค่ะแฟน ๆ เว็บไซต์มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มที่น่ารัก ใกล้สิ้นปีแบบนี้ มีเรื่องให้ตื่นเต้นหลายเรื่องเลยนะคะ ทั้งตื่นเต้นกับอากาศหนาวที่เข้ามากระทบผิวกายมากกว่าปีที่ผ่านมา ตื่นเต้นกับวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่หลาย ๆ ครอบครัวจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาฉลองวันสิ้นปีด้วยกัน แถมบางบ้านที่มีลูกหลานทำงานองค์กรเอกชน ก็รอลุ้นโบนัสที่จะได้รับกันไป ได้มากได้น้อยก็ดีกว่าไม่ได้ จริงไหมคะ?
แต่แหม! สงสัยกรมชลประทานเห็นว่าเราตื่นเต้นไม่พอ เลยจัดชุดใหญ่ ไฟกระพริบ ออกประกาศเตือนส่งท้ายปี เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนทั่วประเทศไทย ที่บางแห่งเหลือน้อยมาก ถึงขนาดต้องขอความร่วมมือให้ประชาชนโดยรอบใช้น้ำอย่างประหยัด ซึ่งพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในเขตชลประทาน ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ ภาคเหนือ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ภาคกลาง เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี
สำหรับมิตรชาวไร่ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามข้างต้น อย่าเพิ่งเป็นกังวลไปนะคะ เพราะคำว่าเสี่ยงน้ำไม่เพียงพอในที่นี้ หมายถึง ยังมีน้ำมีเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภค, รักษาระบบนิเวศ, ใช้สำหรับไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก รวมถึงพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง แต่มีความเสี่ยงไม่เพียงพอสำหรับทำไร่ทำนาตามฤดูกาล หรือพืชที่ต้องอาศัยน้ำจากฝน
เพราะฉะนั้นหากใครมีพื้นที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้ สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ในส่วนของเกษตรกรที่ต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรคงต้องเริ่มวางแผนการบริหารจัดการน้ำในไร่ นา สวน กันให้เพียงพอต่อความต้องการของพืชที่ปลูก เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเองยิ่งต้องจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละช่วงวัยของอ้อย เช่น อ้อยปลูกใหม่ ช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ เป็นช่วงที่ต้องได้รับน้ำอย่างเต็มที่ อ้อยตอเองต้นปีหน้าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ต้องให้น้ำครั้งที่ 1 จะเห็นว่าพืชบางชนิดจะให้น้ำโดยฝนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการเจริญเติบโตแต่ละช่วง พืชต้องการสารอาหารต่างกัน
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอแนะนำแนวทางการรับมือความเสี่ยงน้ำไม่พอใช้เพื่อการเกษตรสำหรับฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึง เดือนเมษายน 2563 ซึ่งมิตรชาวไร่สามารถปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ดังนี้
การขุดสระเก็บน้ำเสริมฝน ซึ่งโดยทั่วไปนิยมขุดแบบเหวี่ยงขึ้นคันสระ มีชาญพักสระและมีทางรับน้ำเข้า ให้ขุดบริเวณต่ำที่สุดของพื้นที่ มีความลาดเอียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้พื้นที่ทั้งไร่เป็นส่วนรับน้ำ เมื่อมีฝนตก ปริมาณน้ำฝนจะได้ไหลเข้าสระเร็วขึ้น ส่วนวิธีการใช้น้ำก็สามารถใช้ปั๊มหอยโข่ง หรือเครื่องสูบน้ำ เพื่อส่งน้ำให้กระจายทั่วแปลงได้ การขุดสระน้ำควรออกแบบให้มีปริมาณน้ำใช้ได้ 2-3 ครั้ง เพื่อให้เพียงพอและคุ้มค่าต่อการลงทุนขุดสระ
การเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้น ซึ่งวิธีนี้บางพื้นที่ไม่สามารถเจาะบาดาลได้ เนื่องจากปริมาณน้ำใต้ดินมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องปริมาตร และคุณภาพของน้ำ น้ำใต้ดินที่เป็นน้ำบาดาลโดยส่วนใหญ่ต้องลึกกว่า 20 เมตร เมื่อมีบ่อบาดาล มิตรชาวไร่สามารถใช้ปั๊มหอยโข่งที่มีระยะดูดได้ไม่เกิน 6 เมตร และใช้ปั๊มน้ำบาดาลหากระดับน้ำลึกเกิน 6 เมตร ดูดน้ำมาใช้งานในไร่ได้อย่างสบาย
นอกจากการเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำแล้งด้วยการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยแล้ว มิตรชาวไร่ควรเลือกวิธีให้น้ำอ้อยด้วยวิธีที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การให้น้ำอ้อยด้วยระบบน้ำหยด ถึงแม้การลงทุนจะสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับน้ำที่ใช้ไปและประโยชน์ที่อ้อยได้รับแล้ว น่าลงทุนมิใช่น้อยค่ะ
อย่างไรก็ดี ขอให้มิตรชาวไร่ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำรวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติตัวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้น้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ เพียงพอต่อประชาชนที่อาศัยน้ำอุปโภค บริโภค โดยรอบ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า หากมิตรชาวไร่ได้วางแผน เตรียมการ และบริหารการใช้น้ำในไร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อ้อยของเราจะผ่านแล้งไปอย่างสวยงามแน่นอนค่ะ.