หน้าแรก

มิตรชาวไร่คะ เรื่องโรคภัยหรือการเจ็บป่วย เกิดขึ้นได้กับสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ไม่ว่าจะ คน สัตว์ พืช ล้วนต้องเจอปัญหาเหล่านี้ อย่างคนเราหากไม่เจอปัญหาโรคระบาด ก็มักเจอปัญหาอากาศเปลี่ยนแปลง ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ความเจ็บป่วยก็ถามหาได้ เช่นกันกับพืชไร่อย่างอ้อย หากเจอโรคอ้อยระบาดในพื้นที่ อ้อยก็เสี่ยงติดโรค หรือแม้แต่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ความชื้นสูงเกินไป โรคภัยก็ถามหา เช่นโรคเหี่ยวเน่าแดง           

เชื่อว่ามิตรชาวไร่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า โรคเหี่ยวเน่าแดง เป็นโรคระบาดรุนแรง ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นา โรคตัวนี้เกิดจากเชื้อรา 2 ชนิด คือ เชื้อ Fusarium moniliforme อยู่ในดิน สามารถเข้าทำลายอ้อยได้ทางรากและโคนต้น และเชื้อ Colletotrichum falcatum สามารถเข้าทำลายอ้อยได้ตามรอยแผลที่เกิดจากหนอนหรือแผลแตกของลำ หรือทางรอยเปิดธรรมชาติ ซึ่งความรุนแรงของอ้อยที่ติดโรคเหี่ยวเน่าแดง คือ เกิดความเสียหายได้ 30-100% เลยทีเดียว ที่สำคัญโรคนี้มีผลทำให้ค่าความหวานของอ้อยที่ยังรอดชีวิตอยู่ลดลงอีกด้วย

ซึ่งมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่าหากมิตรชาวไร่หมั่นสังเกตอาการอ้อย หรือวิธีรับมือเพื่อป้องกันโรคเหี่ยวเน่าแดงนี้ โอกาสที่จะเกิดความเสียหายในไร่ของเราคงมีน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลย

สิ่งแรกที่เราควรปฏิบัติคือ เลือกปลูกอ้อยโดยไม่ใช้ท่อนพันธุ์อ้อยที่ติดโรคเหี่ยวเน่าแดง ต้องหาแหล่งที่มาของท่อนพันธุ์ที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะหากปลูกอ้อยติดโรค แน่นอนว่าจะทำให้การระบาดกระจายในวงกว้างและยากต่อการป้องกันกำจัด ทีนี้จะมาตามแก้ปัญหาในแปลงก็ลำบาก เว้นเสียแต่รื้อทั้งแปลงแล้วปลูกใหม่ไปเลย เสียเงิน เสียเวลากันไปอีก สำคัญที่สุดคือมิตรชาวไร่ควรรู้ลักษณะอาการและวิธีการป้องกันโรค โดยสังเกตอาการโรคเหี่ยวเน่าแดงได้ดังนี้

ลักษณะอาการโรคเหี่ยวเน่าแดง อ้อยจะเหี่ยวตายฉับพลันยืนต้นแห้งตายไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้

  1. ระยะแรกอายุ 4-5 เดือน อ้อยใบเหลือง ขอบใบแห้ง
  2. อ้อยจะยืนต้นแห้งตายเป็นกอ ๆ จนถึงระยะเก็บเกี่ยว
  3. เมื่อผ่าในลำจะเห็นเนื้ออ้อยเน่าช้ำเป็นสีแดงเป็นจ้ำ หรือเนื้ออ้อยเน่าเป็นสีน้ำตาลปนม่วง

การป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาด ก่อนการเก็บเกี่ยว ตั้งสติและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้

  1. เร่งระบายน้ำแปลงที่มีน้ำขัง
  2. งดการเร่งปุ๋ยและน้ำ
  3. รีบตัดอ้อยเข้าหีบ

การจัดการแก้ไขหลังเก็บเกี่ยว

  1. รื้อแปลงทิ้ง
  2. ทำลายซากตอเก่า โดยการคราดออกและเผาทิ้ง
  3. ตากดิน ประมาณ 3 ครั้ง
  4. ปลูกพืชสลับ เช่น ถั่ว ปอเทือง ก่อนปลูกอ้อยฤดูใหม่
  5. ปลูกพันธุ์ที่ต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดง หลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยพันธุ์เดียว
  6. คัดเลือกพันธุ์ที่สมบูรณ์ จากแหล่งที่ไม่เป็นโรค หรือเตรียมแปลงพันธุ์ด้วยตนเอง
  7. ถ้าไม่แน่ใจว่าพันธุ์ต้านทานหรือไม่ ก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ในสารเคมีเพื่อป้องกันกำจัดโรค ดังนี้
  • เบนโนมิล (เบนเลท 25% WP) อัตรา 25 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ไธโอฟาเนท-เมททิล (ทอปซินเอ็ม 50%) อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • โปรพิโคนาโซล (ทิลท์ 250EC) อัตรา 16 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

จะเห็นว่าแนวทางจัดการหลัก ๆ เลยคือ การพักดิน และปลูกพืชบำรุงดินเพื่อตัดวงจรโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสี่เสาพลัสของการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม นอกจากนี้การปรับสัดส่วนพันธุ์ โดยนำอ้อยพันธุ์ใหม่ มาปลูกทดแทนพันธุ์ที่เกิดโรคก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคเหี่ยวเน่าแดงได้

ที่มาข้อมูล – ภาพ

https://www.kubotasolutions.com/

ข่าวปักหมุด