ย้อนกลับไปครั้งนั้น ‘ซาร์ส’ (SARS) เริ่มต้นขึ้นในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน และค่อยๆ แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 รายใน 37 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 รายทั่วโล และในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ‘2019-nCoV’ หรือ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ก็มาจากประเทศจีนเช่นกัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดขายอาหารทะเลแห่งหนึ่งภายในมณฑลอู่ฮั่น ซึ่งจากถ้อยแถลงสั้นๆ ของทางการจีน ณ ขณะนี้ พบว่า มีผู้ติดเชื้อ 41 รายทั่วประเทศ และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย
สถานการณ์ดูเหมือนจะควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 นอกประเทศจีนถึง 3 ราย คือ ประเทศไทย 2 ราย และประเทศญี่ปุ่น 1 ราย
โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในประเทศไทยทั้ง 2 ราย ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ภายใต้มาตรการการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ซึ่งจากตัวเลขการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้ง 3 รายนั้น ศูนย์วิจัยลอนดอน (MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis at Imperial College in London) มองว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจมีจำนวนมากกว่าที่ทางการจีนรายงาน
ทางศูนย์วิจัยลอนดอนจึงได้หยิบยกข้อมูลการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศของสนามบินอู่ฮั่นมาคำนวณ เพื่อหาความเป็นไปได้ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ภายในมณฑลอู่ฮั่น ณ วันที่ 12 มกราคม 2563 ว่าแท้จริงแล้วควรมีประมาณเท่าใดถึงสามารถแพร่กระจายไปยังนอกประเทศจีนได้ถึง 3 ราย
และผลลัพท์ที่ได้ก็น่าตกใจพอสมควร เพราะประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในมณฑลอู่ฮั่นอาจมีมากถึง 1,723 ราย สูงกว่าที่ทางการจีนรายงานถึง 42 เท่า!!
ทำให้สนามบินของนานาประเทศทั่วโลกต่างยกระดับมาตรการการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีนให้เข้มข้นขึ้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่กระจายสู่ประชากรในประเทศตนเอง
เพราะจนถึงตอนนี้ ทางการจีนก็ยังไม่มีการแถลงการณ์ถึงรายละเอียดที่แน่ชัดของ ‘ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019’ แต่อย่างใด
แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ยอมรับว่า ข้อมูลของไวรัสชนิดนี้มีค่อนข้างน้อย
อีกทั้งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะสามารถแพร่พันธุ์จากคนสู่คนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศหวาดวิตก
นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลชื่อดังของไทย มากว่า 17 ปี เปิดเผยข้อมูลกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อก่อโรคหวัดหรือปอดอักเสบอยู่แล้ว สาเหตุการเกิดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังตอบไม่ได้ชี้ชัด แต่ข้อมูลจากทีมวิจัยจุฬาฯ ซึ่งติดตามเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ๆ และมีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่แล้ว ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ไทย และนำไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางของจีนที่ถอดรหัสพันธุกรรมไว้ พบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ไทยถอดรหัสพันธุกรรมมีความใกล้เคียงกับที่จีน ซึ่งเป็นไวรัสโคโรน่าที่พบอยู่ใน ‘ค้างคาว’ แต่พาหะนำเชื้อเข้าสู่คนยังไม่สามารถยืนยันข้อมูล เนื่องจากฐานข้อมูลกลางของจีนไม่ได้ลงรายละเอียด
‘ไวรัสโคโรน่า’ ที่เคยระบาดในมนุษย์ มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังระบาด เป็นสายพันธุ์ที่ 7 แม้ยังไม่พบพาหะนำเชื้อเข้าสู่คน แต่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถแพร่เชื้อติดต่อได้จากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การสัมผัสคนป่วย หรือ พื้นผิวที่คนป่วยสัมผัสไว้ ซึ่งอาจมีน้ำมูก น้ำลาย เสมหะปนเปื้อน และเกิดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการหายใจ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ ตา จมูก ปาก จากการ ไอ จาม หรือ ละอองฝอยที่ฟุ้งจากฝุ่น
สำหรับอาการหากป่วยด้วยไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ระบุว่า ไม่สามารถจำแนกหรือระบุได้แน่ชัด ว่า อาการลักษณะใดคือป่วยหนักหรือไม่หนัก เนื่องจากโดยธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัส ความรุนแรงในการก่อโรคของแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่รับเชื้อตัวเดียวกัน นั่นเพราะปัจจัยทางพันธุกรรมและภูมิต้านทานของแต่ละคน ซึ่งคนที่ฉีดวัคซีนโอกาสป่วยหนักจะน้อยกว่า หรือคนที่เคยสัมผัสเชื้อมาก่อนก็จะมีภูมิต้านทานบางส่วนในการป้องกันโรคในครั้งถัดไป รวมถึงความอ่อนแอของร่างกายแต่ละคน บางคนอายุเยอะ มีโรคประจำตัวก็จะมีอาการหนัก
จากข้อมูลที่ผู้ป่วยติดเชื้อมารักษาในไทย พบอาการป่วยด้วย ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 น่าจะเกิดอาการทางเดินหายใจ ซึ่งมีลักษณะหลายกลุ่ม ตั้งแต่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต อาทิ อาการคล้ายไข้หวัด คือ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ, กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หรือเป็นกลุ่มอาการปอดอักเสบซึ่งมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง
"ข้อมูลในไทยยังมีความจำกัด ยังมีข้อมูลน่อยมาก เพราะทางจีนปล่อยข้อมูลน้อยมาก และไม่ได้ปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย จึงไม่ทราบแน่ชัดในสัดส่วนของคนป่วยว่าอาการลักษณะใดคือป่วยหนัก หรือไม่หนัก ซึ่งคุณสมบัติของการติดเชื้อไวรัสโดยธรรมชาติความรุนแรงในการก่อโรค ของแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถจำแนกอาการได้โดยตรง ต้องอาศัยการตรวจจากห้องปฏิบัติการ โรคติดต่อลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จะไม่มีข้อมูลวิจัยในอดีตมาตอบได้ว่าระยะแพร่เชื้อนานเท่าไหร่ ตามธรรมชาติโรคที่อุบัติใหม่จะไม่มีวัคซีนป้องกัน" นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออธิบาย
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เพิ่งอุบัติใหม่ วิธีป้องกัน และลดความเสี่ยง เตือนสติตัวเองไม่ให้เอามือไปแคะจมูก แคะปากโดยไม่จำเป็น หากใครเพิ่งกลับจากมณฑลอู่ฮั่นแล้วมีอาการผิดปกติ ป่วยเกิน 14 วัน ควรไปตรวจโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะหากตรวจพบเร็วรักษาเร็ว มีโอกาสหาย
จากทั้งหมดทั้งมวล ช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดสำหรับ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ คงหนีไม่พ้นช่วงตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรจีนเดินทางท่องเที่ยวสู่เมืองใหญ่และต่างประเทศมากกว่า 1.4 พันล้านคน และเราไม่มีทางรู้เลยว่า ในจำนวน 1.4 พันล้านคนนั้น จะมีผู้ติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019' หรือไม่.
ขอบคุณที่มา: https://www.thairath.co.th/scoop/1750413