หน้าแรก

วินาทีนี้ ไทยไม่ช่วยกัน แล้วใครจะช่วยไทย ด้วยสถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่บีบหัวใจพี่น้องชาวไทยแทบทุกวัน ทำให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงหน่วยงานที่มีบทบาทในการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคต้องตื่นตัวตลอดเวลา นอกจากจะดูแลสุขภาพของตนเองแล้ว ยังลุ้นข่าวทุกวินาทีว่า เมื่อไหร่จะมีแนวทางการรักษาที่ชัดเจน ปลอดภัย ให้โควิด-19 เป็นเพียงแค่โรคติดเชื้อไวรัสธรรมดาประเภทหนึ่ง

แม้วันนี้ยังไม่มีข่าวดีเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาด แต่ก็มีข่าวดีในด้านการช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจรักษาคนไข้อย่างเท่าเทียม

ล่าสุดสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งผลิตหุ่นยนต์ “CU-RoboCOVID” 103 ชุด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท นำทีมโดยเจ้าหุ่นยนต์ “PINTO” เพื่อมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้สู้ภัย COVID-19 โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้แพทย์และพยาบาล

คนไทยสร้างหุ่นยนต์-003.jpg

หุ่นยนต์ PINTO (ปินโต) คือ หุ่นยนต์ซีรี่ส์หนึ่งของ CU-RoboCovid ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์เพื่อส่งไปช่วยหมอสู้ภัย COVID-19 เป็นหุ่นยนต์ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ระยะไกลที่ติดตั้งพร้อมด้วยระบบ Telepresence โดยทำหน้าที่ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ไปยังห้องผู้ป่วย พร้อมมีระบบภาพสื่อสารทางไกลที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลการทางการแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น

คนไทยสร้างหุ่นยนต์-004.jpg

นอกจากนี้ เรายังมีซีรี่ส์ “น้องกระจก” (Quarantine Telepresent) เป็นหุ่นยนต์แท็บเลต ที่นำไปไว้ที่ห้องผู้ป่วย จะทำหน้าที่สอดส่องดูแล และพูดคุยกับผู้ป่วยได้โดยที่ไม่ต้องกดรับสาย นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและลดอัตราการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ลง ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับหมอและพยาบาลได้เป็นอย่างดี 

คนไทยสร้างหุ่นยนต์-005.jpg

“หุ่นยนต์นินจา” เป็นซีรี่ส์ที่ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างหมอกับผู้ป่วย COVID-19 ผ่านระบบ Video Conference โดยที่ทั้งหมอ พยาบาล ยังสามารถพูดคุย โต้ตอบ สอบถามอาการกับผู้ป่วยผ่านระบบTelemedicine โดยไม่ต้องเข้าไปในหอผู้ป่วย และยังสามารถควบคุมและสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล และที่มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์นินจายังเชื่อมอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ และส่งข้อมูลไปให้หมอใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันทีอีกด้วย

โดยทางสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ทราบถึงความต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อให้หมอและพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สู้ร่วมกันในภารกิจโควิด-19 ตามมาตรการ Social Distancing จึงมีแนวคิดจัดหาหุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอ จำนวน 103 ตัว ในโอกาสครบ 103 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลค่า 5,150,000 บาท โดยในเบื้องต้น ได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมเร่งผลิตหุ่นยนต์ PINTO 20 ชุดแรกออกมาให้พร้อมใช้งานจริง และส่งมอบหุ่นยนต์ชุดแรกให้กับหลายโรงพยาบาลแล้ว อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2 ชุด รพ.ศิริราช 2 ชุด รพ.วชิระภูเก็ต 4 ชุด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศประสานเข้ามาขอรับการสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง ดังนั้น สนจ. จึงได้จัดทำแคมเปญเร่งด่วน “หุ่นยนต์เซฟหมอ หมอเซฟเรา เราเซฟหมอ” เพื่อขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่ายและผู้มีจิตศรัทธา จนได้เงินมาจัดซื้อหุ่นยนต์ PINTO จนครบ 103 ตัว และจะเร่งส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ร้องขอมาได้ในเดือนเมษายนนี้ เป็นกองหนุนให้บุคลากร ทางการแพทย์ต่อสู้กับ COVID-19 เพื่อคนไทยต่อไป

มิตรชาวไร่ท่านใดมีจิตศรัทธาสนใจร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข สามารถบริจาคผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ ชื่อบัญชี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-เงินรองจ่าย เลขที่บัญชี 038-202810-6 และโอนสลิปหรือแจ้งทางสนจ. เพื่อขอรับใบเสร็จรับเงินได้ค่ะ

ขอบคุณที่มา:

https://thesharpener.online/

ข่าวปักหมุด