หน้าแรก

ปัญหาการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อย รวมทั้งสาเหตุอย่างอื่น ทำให้อ้อยแสดงอาการผิดปกติไม่สามารถเจริญเติบโต ให้ผลผลิตได้ หรือให้ผลผลิตที่ได้ไม่เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลเสียต่อมิตรชาวไร่ที่ต้องแบกรับภาระความเสียหายจากต้นทุนการผลิต หรือต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ไขอาการผิดปกติต่าง ๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามิตรชาวไร่จะได้ผลผลิตที่ดีดังเดิม

การที่จะผลิตอ้อยให้ได้ผลผลิตที่เต็มศักยภาพตามเป้าหมายที่วางไว้รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาความผิดปกติของอ้อยอันเกิดจากโรค แมลงศัตรูพืชและสาเหตุอื่น ๆ ให้น้อยที่สุด จำเป็นอย่างยิ่งที่มิตรชาวไร่ต้องมีความสามารถในการจำแนกชนิดและลักษณะอาการของความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอ้อย โดยเฉพาะทางใบที่มิตรชาวไร่จะสังเกตเห็นได้ง่าย เพื่อวินิจฉัยอ้อยเบื้องต้น ว่ามีความผิดปกติในเรื่องใด และจะได้ดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกต้องต่อไปการวินิจฉัยอ้อยเบื้องต้น-003-02.jpg

โรคใบด่าง

อาการ อ้อยที่เป็นโรคจะมีปริมาณคลอโรฟิลล์ในใบลดลง ทำให้ใบอ้อยด่างเป็นรอยขีดสั้น ๆ สีเขียวอ่อนสลับกับสีเขียวเข้มทั่วทั้งใบ เมื่อส่องดูใบกับแสงแดดจะเห็นรอยด่างชัดเจน อาการด่าง ปรากฏบนใบอ่อนเห็นชัดเจนกว่าที่ใบแก่ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคอาจปรากฏ รอยขีดด่างบนลำอ้อยด้วย การเจริญลดลง ลำอ้อยเล็กลีบลง

สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส SCMV (Sugarcane Mosaic Virus)

การแพร่ระบาด โรคระบาดติดไปกับท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค และมีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะในการถ่ายทอดโรค

ข้อแนะนำในการป้องกัน/กำจัด

  • คัดเลือกอ้อยที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรคสำหรับใช้เป็นท่อนพันธุ์
  • หลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคเป็นพื้นที่กว้าง
  • หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่อาจเป็นพืชอาศัยหรือพืชอาศัยสลับของเชื้อโรคหรือเป็นพืชอาหารของเพลี้ยอ่อน เช่น ข้าวโพดหวาน เพราะอาจ มีการถ่ายทอดโรคสลับกับอ้อย
  • กำจัดวัชพืชในไร่อ้อย เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยของแมลงพาหะโรค
  • หาแนวทางในการป้องกันกำจัดแมลงพาหะประกอบด้วย เพลี้ยอ่อนข้าวโพด, เพลี้ยอ่อนหญ้า,มวนบางชนิด, เหาพืช

การวินิจฉัยอ้อยเบื้องต้น-003.jpg

โรคราสนิม

อาการ เชื้อสาเหตุเริ่มเข้าทำลายใบอ่อน เห็นเป็นจุดเล็ก ๆ สีแดง ต่อมาจุดแผลจะพัฒนาขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนเมื่อใบอ้อยเจริญเป็นใบแก่ แผลขยายยาวออกขนาดแผลกว้าง 1-3 มิลลิเมตร ยาว 2-10 มิลลิเมตร เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง แผลนูนขึ้นโดยเฉพาะด้านหลังใบ โดยเชื้อราจะมีการสร้างสปอร์ในส่วนแผลนูนดังกล่าวที่บริเวณใต้ใบ เมื่อแผลแตกออกมีลักษณะแผลขรุขระ มีผงสปอร์สีน้ำตาลแดงลักษณะ คล้ายสีสนิมจำนวนมาก พบมีแผลหนาแน่นบนใบล่างมากกว่าใบบนของลำ แผลเกิดกระจายทั่วไป ในพันธุ์อ้อยที่อ่อนแอต่อโรคแผลเกิดติดต่อกันจนอาจมองไม่เห็นผิวใบ ทำให้อ้อยสูญเสียพื้นที่การสังเคราะห์แสง โดยที่ใบอ้อยที่เป็นโรคจะแห้งก่อนที่ใบจะแก่ ใบอ้อยแห้ง โทรม การเจริญของอ้อยไม่สมบูรณ์แต่หากเป็นโรคไม่รุนแรงอ้อยจะยังสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยที่ผลผลิตไม่ลดลงมาก

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Puccinia melanocephala

การแพร่ระบาด สปอร์ (teliospore) ของราสนิมจะยังคงอยู่บนใบอ้อยที่เป็นโรคข้ามฤดู และเชื้อสามารถอยู่ในเศษซากอ้อย ทั้งนี้สปอร์ (uredospore) สามารถแพร่กระจายไปตามสายลมและพร้อมกับฝนได้ โดยที่โรคสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรงเมื่ออากาศมีความอบอุ่นและมีความชื้นสูง

ข้อแนะนำในการป้องกัน/กำจัด

  • ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพันธุ์อ้อยที่อ่อนแอต่อโรคเป็นพื้นที่กว้าง เพื่อ ไม่ให้โรคมีการระบาดรุนแรง
  • ใช้พันธุ์อ้อยที่ต้านทานต่อโรคและหลีกเลี่ยงการใช้พันธุ์อ้อยที่อ่อนแอและอาจมีการทำแปลงพันธุ์อ้อยที่แยกต่างหากไว้เพื่อเป็นท่อนพันธุ์
  • เมื่อพบส่วนของอ้อยที่เป็นโรค ควรมีการเก็บออกจากแปลงอ้อย เผาทำลายทิ้งรวมทั้งกำจัดวัชพืชอันอาจเป็นพืชอาศัยสลับของเชื้อสาเหตุโรค
  • ในกรณีที่เพิ่งพบโรคราสนิม อาจมีการใช้สารเคมีเช่น Ferbam, Ziram, triadiamefon หรือmetalaxyl ซึ่งสามารถทำลายเชื้อโรคราสนิมได้ แต่การใช้สารเคมีฉีดพ่นให้ทั่วแปลงนั้นอาจมีการสิ้นเปลืองมาก หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้เฉพาะที่เป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโดยตรงในระยะที่เริ่มมีโรคระบาดขึ้นกับต้นอ่อน เป็นการทำลายและลดปริมาณเชื้อ และเป็นการป้องกันกำจัดเชื้อในระยะเริ่มต้นไม่ให้มีการแพร่ระบาดออกไป

การวินิจฉัยอ้อยเบื้องต้น-004.jpg

ขาดธาตุไนโตรเจน (N)

อาการ เมื่ออ้อยขาดไนโตรเจนจะแสดงอาการที่ใบ โดยใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีคลอโรฟิลต่ำ ใบอ่อนจะมีสีจาง ลำต้นแคระ แกร็น การเจริญเติบโตลดลง อ้อยแตกกอน้อย อ้อยจะมีอัตราส่วนระหว่าง ซูโครส และรีดิวซิ่งซูการ์สูงเพราะอ้อยขาดไนโตรเจนจะสร้างซูโครสมาก แต่จะสร้างเนื้อเยื่อเพื่อการเจริญเติบโตลดลง เมื่ออ้อยได้รับไนโตรเจนมากเกินไป อ้อยจะมีใบเขียวเข้มมีลำต้นอวบ มีการเจริญเติบโตด้านโครงสร้างและคุณภาพลดลง การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเกินพอดีทำให้ปริมาณของไฟเบอร์ ลดลงอ้อยจะล้มง่าย

คำแนะนำ อินทรียวัตถุในดินเป็นแหล่งที่สำคัญของธาตุไนโตรเจนตามธรรมชาติ ในดินที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะมีอินทรียวัตถุอยู่ระหว่าง1-3% มีอยู่หลายแห่งที่เป็นดินทรายทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีระดับอินทรีย์วัตถุต่ำกว่า1% ทำให้อ้อยที่ปลูกแสดงอาการขาดไนโตรเจน จำเป็นต้องใส่ธาตุไนโตรเจนในรูปของปุ๋ยเคมีเป็นปริมาณมาก ๆ เนื่องจากอินทรียวัตถุเป็นแหล่งที่มาของไนโตรเจนในดิน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้แก่อ้อยจึงใช้ระดับอินทรียวัตถุในดินเป็นเกณฑ์พิจารณาปริมาณของปุ๋ยไนโตรเจนที่ให้

การวินิจฉัยอ้อยเบื้องต้น-005.jpg

โรคจากศัตรูอ้อย เพลี้ยสำลีแป้ง

ความเสียหาย/ลักษณะการทำลาย เมื่อระบาดมากทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ใบอ้อยแห้งกรอบทั้งใบ ซึ่งบางครั้งมีผลให้ต้นอ้อยแห้งตายไปทั้งต้น นอกจากนี้น้ำหวานที่เพลี้ยชนิดนี้ถ่ายออกมาเคลือบอยู่ตามใบอ้อย ทำให้ราดำเข้าทำลาย จึงพบว่าราดำเคลือบอยู่ตามใบอ้อย ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสงของใบอ้อยลดลง ซึ่งย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสะสมน้ำตาลของอ้อย เพลี้ยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงใต้ใบอ้อย ทำให้ใบอ้อยเป็น สีเหลืองซีด เมื่อระบาดมากจะมีลักษณะคล้ายแป้งสีขาวปกคลุมตาม ใต้ใบอ้อย ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพลี้ยแป้ง

การแพร่กระจายและฤดูกาลระบาด พบทั่วไปในแหล่งปลูกอ้อยทั่วประเทศ เริ่มระบาด ตั้งแต่เดือนตุลาคม พบระบาดมากในฤดูแล้งคือ กุมภาพันธ์ - เมษายน ปริมาณจะลดน้อยลงเมื่อเข้าฤดูฝน เมื่อฝนตกหนักเพลี้ยสำลีจะหายไปเอง ปริมาณน้ำฝนจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการระบาดของแมลงศัตรูอ้อยชนิดนี้

คำแนะนำการป้องกัน/กำจัด

  • การเริ่มฉีดสารฆ่าแมลงเมื่อพบเพลี้ยสำลีเริ่มระบาดก่อนที่จะแพร่พันธุ์ออกไปมาก โดยฉีดเฉพาะกอที่ถูกทำลาย สารฆ่าแมลงที่แนะนำ คือ carbaryl (Sevin 85% WP) อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ malathion57% EC (Malarfez57% EC) อัตรา10ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ถ้าไม่มีการระบาดมากก็ไม่ต้องทำการป้องกันกำจัด เมื่อฝนตกลง มาก็จะหายไปเอง

โรคอ้อยทั้ง 4 โรคนี้จะแสดงอาการผิดปกติให้เห็นทางใบ ซึ่งความผิดปกติเกิดมาจากหลายสาเหตุ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ความผิดปกติบนยอด ภายในลำต้น ที่รากหรือเหง้า หรือความผิดปกติที่เกิดจากการขาดธาตุอาหาร แมลงศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อมิตรชาวไร่สังเกตพบอาการผิดปกติแล้ว ควรรีบวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการดังกล่าว โดยปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ หรือสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองจากคู่มือวินิจฉัยโรคอ้อย ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ลดการระบาดของโรคและแมลงศัตรูอ้อย ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลต่อเนื่องให้ผลผลิตอ้อยของมิตรชาวไร่ได้ผลผลิตที่ดีดังตั้งใจไว้นั่นเอง

ขอบคุณที่มา

http://www.ocsb.go.th/upload/journal/fileupload/144-2275.pdf

ที่มาภาพ

  1. ราสนิม จาก https://www.baanlaesuan.com/
  2. ขาดไนโตรเจน จาก http://ipc.ocsb.go.th/
  3. เพลี้ยสำลีแป้ง จาก http://www.fkx.asia/

ข่าวปักหมุด