“มกรา กุมภา มีนา มีนา เมษา ษา ษา ษา…….” ขออนุญาตเปิดตัวด้วยเพลงฮิตมาแรงในช่วงนี้นะคะมิตรชาวไร่
ในที่สุดฤดูหนาวก็ได้จากลาเราไปอย่างเป็นทางการ ฤดูร้อนที่จ่อรอตลอดเวลาก็กระโดดเข้ามาถาโถมความร้อนใส่เราทันทีก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ
ซึ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ประเดิมฤดูร้อนด้วยพายุฤดูร้อนที่ได้รับอิทธิพลจากทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกลงมา 1-2 วัน ข้อดีคือด้านเกษตรกรรมได้น้ำให้พืชที่เพาะปลูกไว้บ้างพอชุ่มฉ่ำ ได้เก็บน้ำในแหล่งน้ำเพาะปลูกพอกรุบกริบ แต่จากนี้ไปคงต้องอาศัยบุญเก่าของแต่ละพื้นที่เพาะปลูกว่ามีน้ำเพียงพอหรือไม่ ใครมีแหล่งน้ำสำรองเก็บไว้ใช้เองก็คงผ่อนหนักผ่อนเบาได้ในช่วงแล้งนะคะ
แน่นอนว่าช่วงเดือนมีนาคมเป็นช่วงสำคัญอีกระยะของกิจกรรมในไร่อ้อย นอกจากการบำรุงอ้อยตอทันทีหลังตัดอ้อยเข้าโรงงานแล้ว สำหรับอ้อยปลูกคือช่วงเวลาที่ต้องใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 ซึ่งในทางปฏิบัติ การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าให้อ้อยปลูกหลายไร่ทำรวมกันทีเดียวไปแล้วในช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 ตั้งแต่อ้อยอายุ 2-3 เดือน เพราะบางไร่ถ้าต้องรอให้ครั้งที่ 2 ในรอบนี้ มักเจอปัญหาอ้อยสูงมาก เข้าไปจัดการลำบาก อันนี้ก็ไม่ว่ากัน
โดยปกติแล้วหลักการให้ปุ๋ยอ้อยปลูกที่เหมาะสมตามช่วงอายุนั้น การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 ต้องให้ช่วงอายุ 2-3 เดือน เน้นไนโตรเจน 50 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการทั้งหมด (ยูเรีย 25 กิโลกรัมต่อไร่ หรือแอมโมเนียมซัลเฟต 50 กิโลกรัมต่อไร่) ส่วนโพแทสเซียม ยังไม่ต้องใส่ให้อ้อยในช่วงนี้
ครั้งที่ 2 คือช่วงมีนาคมโดยประมาณ ช่วงนี้อ้อยจะมีอายุ 5 เดือน ต้องเน้นโพแทสเซียม 50 เปอร์เซ็นต์ และไนโตรเจน 25 เปอร์เซ็นต์ แนะนำให้ใส่ 21-7-18, 25-7-7 หรือ 20-8-24 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า บางไร่อาจรวมการใส่ปุ๋ยให้อ้อยปลูกรวมกันเพียงครั้งเดียวในช่วงใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 ที่อ้อยมีอายุ 2-3 เดือน ด้วยข้อจำกัดและอุปสรรคในช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 ที่อ้อยเริ่มโตและสูงขึ้น ดังนั้นมิตรชาวไร่ควรบริหารเรื่องปริมาณปุ๋ยที่อ้อยต้องการให้เหมาะสมเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่คาดการณ์ไว้
ที่มาภาพ