หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ที่น่ารักทุกท่าน เริ่มต้นเดือนพฤษภาคมด้วยความสดชื่น จากสายฝนที่โปรยปรายตกกระจายหลายพื้นที่ทั่วประเทศนะคะ ต้อนรับการเตรียมแปลงปลูกของพื้นที่ปลูกอ้อยใหม่ และให้น้ำจากฝนสำหรับอ้อยตอได้อย่างดี

สำหรับการคาดการณ์ของกรมกรมอุตุนิยมวิทยาของฤดูฝนประจำปี 2564 นี้ กรมอุตุฯคาดว่า ฤดูฝนจะเริ่มอย่างเป็นทางการกลางสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2564 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 และจะมากกว่าปีที่แล้ว

โดยช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (กลางเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ส่วนช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคม-กลางตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ

ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่และอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

ลักษณะอากาศทั่วไปในช่วงกลางและปลายเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่มีฝนตกร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

จากนั้นช่วงประมาณครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในบางแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน

สำหรับช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นอีกครั้งโดยส่วนใหญ่จะมีฝนตกร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย

ส่วนในเดือนตุลาคม ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า โดยเฉพาะตอนบนของภาค แต่ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นเป็นการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้พี่น้องประชาชนชาวไทยเตรียมตัวรับมือกับสภาพฝนที่มีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว และให้เกษตรกรวางแผนจัดการน้ำในพื้นที่ปลูกเพื่อให้ไม่กระทบผลผลิต ดังนั้นก่อนเข้าฤดูฝนอย่างเป็นทางการเราขอแนะนำพี่น้องมิตรชาวไร่ วางแผนการวางแนวระบายน้ำในแปลงอ้อยด้วยเพราะหากมีน้ำขังในแปลงอ้อย หรือมีฝนตกลงมาในปริมาณมากการระบายน้ำในแปลงออ้ยที่ไม่ดี น้ำก็ระบายไม่ทัน น้ำท่วมขังส่งผลกระทบต่ออ้อยและการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้ผลผลิตลดลง และยังเป็นอุปสรรคต่อการจัดการไร่อ้อยด้วยเครื่องจักรกลเกษตรในแต่ละกิจกรรมอีกด้วย ซึ่งหลายคนมองว่าน้ำมากยังไงก็ดีกว่าน้ำแล้ง แต่ขออย่าให้น้ำท่วมเป็นดีที่สุด…จริงไหมคะ?

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.thansettakij.com/

https://www.world-grain.com/

ข่าวปักหมุด