หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่าน ฤดูกาลตัดอ้อยหีบอ้อยเข้าโรงงานเช่นนี้ นอกจากข่าวคราวราคาอ้อยที่น่าสนใจแล้ว ข่าวอีกประเด็นที่ยังมีให้ชาวไร่อ้อยต้องสะดุ้งกันอยู่บ้าง คือข่าวการร้องเรียนของพี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้

เคียงไร่อ้อย และได้รับผลกระทบจากการเผาอ้อยก่อนตัด แม้ว่าปัจจุบันชาวไร่อ้อยทั่วประเทศไทยจะหันมาตัดอ้อยสดกันมากแล้ว แต่ก็ยังมีเกษตรกรบางรายที่ยังต้องเผาอ้อยด้วยเหตุปัจจัยส่วนตัวต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดประเด็นด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องนั่นเองค่ะ

ทั้งนี้ผลกระทบจากอ้อยไฟไหม้ที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะมากหรือน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ โดยทั่วไปมลพิษจากการเผาไหม้ ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กและฝุ่นละออง ซึ่งจะกระจายไปในอากาศทำให้สภาพการมองเห็นลดลง เกิดการระคายต่อจมูกและลำคอแล้วถ้าประสบสภาวะนี้อยู่นาน ๆ จะเป็นผลเสียต่อการหายใจ

เมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนถ่ายออกซิเจนของเลือดลดลง นอกจากนี้สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ ซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น เบนซิน โทลูอีน เมทิลลีนคลอไรด์ และเมทิลคลอโรฟอร์ม จะมีผลกระทบต่อพืชและมนุษย์อีกด้วย

ในการเผาอ้อยจะเกิดความร้อนสูงมาก ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว และเกิดฝุ่นละอองลอยตัวกระจายในอากาศสูงกว่า 2,250 เมตร และลอยไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร หรือมากกว่า ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณดังกล่าว

นอกจากนี้ผลกระทบด้านสุขภาพ ระหว่างการเผาไหม้สารประกอบซิลิก้า (Silica Fiber) ในอ้อย จะถูกปล่อยออกจากลำต้นอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาจากประชากรในบราซิล พบว่า มีประชากรในเขตการปลูกอ้อยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยที่ระดับของการป่วยจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและปัจจัยสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ๆ และเถ้าที่เกิดจากการเผาอ้อยจะเป็นอันตรายต่อสายตาของประชากรที่อาศัยในบริเวณไร่อ้อยด้วย

IMG_2808.JPG

ที่เรามักจะเห็นข่าวการร้องเรียนผลกระทบที่เกิดจากการเผาอ้อย เนื่องจากหากจับผู้กระทำผิดได้ สามารถเอาโทษได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 วรรคแรก ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท และมาตรา 25 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 การกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เมื่อผลกระทบมากมายขนาดนี้แล้ว เลิกเผาอ้อย แล้วมาตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานกันดีกว่าค่ะ

ที่มาของข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

https://www.khaosod.co.th/

 

 

ข่าวปักหมุด