หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกคน ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเคยเจอปัญหา บริษัทขายประกัน แหล่งเงินกู้ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่มีเสียงด้วยระบบอัตโนมัติ แจ้งว่าเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ติดต่อมาที่เบอร์ส่วนตัวเรากันบ้างนะคะ พอรับสายหลายคนอาจเอะใจว่า ได้เบอร์เรามาจากไหน ทำไมรู้ไปถึงที่อยู่ หรือข้อมูลส่วนตัวเราหลาย ๆ อย่าง

…..ใช่ค่ะ เมื่อเจอแบบนี้ อนุมานได้เลยว่า ข้อมูลส่วนตัวของเรารั่วไหลไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้ แบบนี้แล้ว หลายคนคงเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยแล้วใช่ไหมคะ?

ปัญหาข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลนี้ เป็นประเด็นทางสังคมที่สำคัญ จนทำให้เกิดร่าง พ.ร.บ.เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น ซึ่งถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ซึ่งดีเดย์จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้

PDPA คืออะไร หลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยมาก่อน เดี๋ยววันนี้เราจะมาสรุปโดยย่อให้มิตรชาวไร่เข้าใจกฎหมายตัวนี้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสิทธิในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเราค่ะ

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) คือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการให้สิทธิ์กับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สร้างมาตรฐานการรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย และนำไปใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาตเท่านั้น ย้ำนะคะว่า “ต้องตามคำยินยอมของเจ้าของข้อมูลเท่านั้น”

ข้อมูลส่วนบุคคลอะไรบ้างที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของ PDPA

ข้อมูลส่วนบุคคล ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป กับข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว 

ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ รูปภาพ อีเมลส่วนตัว ที่อยู่ปัจจุบัน เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลทางการศึกษา ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางการแพทย์ทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ทะเบียนบ้าน วันเดือนปีเกิด สัญชาติ น้ำหนักส่วนสูง รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ บนอินเทอร์เน็ตที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น Username /password,  Cookies IP address,  GPS Location ค่ะ

ต่อมาคือข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ คือข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Personal Data) ทำไมเรียกว่าอ่อนไหว ก็เพราะข้อมูลต่อไปนี้คือข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล ได้แก่ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลด้านสุขภาพ ความพิการ เช่น โรคประจำตัว การฉีดวัคซีน ใบรับรองแพทย์ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ แบบจำลองใบหน้า ข้อมูลม่านตา

สำหรับกฎหมาย PDPA มีใครเกี่ยวข้องบ้าง และเราในฐานะประชาชนของประเทศจะอยู่ในส่วนไหน

ภายใต้กฎหมาย PDPA ประกอบด้วย

  • เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject)
  • ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) คือคน บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นคนตัดสินใจว่า จะมีการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลอะไร เพื่ออะไร  ภายใต้ PDPA ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดหลักที่ต้องปฏิบัติตาม PDPA ให้ครบถ้วน 
  • ผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Processor) คือ คน บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยจะทำภายใต้คำสั่ง หรือในนามของ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (Data Controller) เท่านั้น ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจทำการประมวลผลข้อมูลด้วยตัวเอง

แน่นอนว่า เราจะอยู่ในส่วนของเจ้าของข้อมูล เว้นเสียแต่ว่ามีใครที่ทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เราก็ต้องเป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ซึ่งก็ต้องห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยปราศจากการยินยอมค่ะ

003.JPG

หากใครก็ตามไม่ปฎิบัติตาม PDPA จะได้รับทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่

โทษอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • โทษแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า
  • โทษปกครอง: ปรับไม่เกิน 1/3/5 ล้านบาท

หลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หวังว่าขอมูลส่วนบุคคลของเราจะได้รับความคุ้มครองดูแล และไม่ถูกเปิดเผยโดยไม่ได้รับการยินยอมจากเรานะคะ

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.thansettakij.com/

https://www.wit.co.th/

 

ข่าวปักหมุด