- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- อา., 19 พ.ย. 60
ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากมาย ทั้งเพื่อความทันสมัย ความสะดวกสบาย และตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่อาจถูกจำกัดด้านทรัพยากร
ล่าสุดบริษัทสตาร์ทอัพจากโคลัมเบีย ได้พัฒนานวัตกรรมโคมไฟที่ชาร์จไฟจากน้ำทะเลหรือหรือน้ำปัสสาวะ ชาร์จเพียงครั้งเดียวใช้ได้ 45 วัน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึงที่คาบสมุทรกัวจิรา ทะเลทรายชายฝั่งทางตอนเหนือสุดของทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดในทวีป และเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างจำกัด
จึงมีบริษัทที่มองเห็นปัญหานี้และได้ให้คนเผ่าวายู ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น เริ่มทดลองใช้โคมไฟขนาดเล็กที่สามารถชาร์จไฟจากน้ำทะเลได้
โคมไฟขนาดพกพาที่ชื่อว่า “WaterLight” พัฒนาขึ้นโดยบริษัทสตาร์ทอัพด้านพลังงานหมุนเวียนจากโคลอมเบียชื่อ เอ-ดีนา และบริษัทวันเดอร์แมน ธอมสัน โคลอมเบีย
โคมไฟถูกออกแบบมาให้เติมน้ำทะเลได้ 500 มิลลิลิตร มีหลักการทำงานด้วยการแยกไอออน โดยอิเล็กโทรไลต์ในน้ำจะทำปฏิกิริยากับแมกนีเซียมและแผ่นทองแดงภายในหลอดไฟเพื่อผลิตไฟฟ้าออกมา
ภายในโคมไฟมีกล่องทรงกระบอกทำจากไม้ยูราปัน ติดตั้งวงจรรวมไว้ที่ฐาน และมีรูที่ฝาด้านบนเพื่อให้น้ำไหลผ่านเข้ามาในโคมไฟ ในขณะเดียวกันรูด้านบนนี้ก็ทำให้ก๊าซไฮโดรเจนที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการแยกไอออนสามารถไหลออกไปได้
หลังเกลือระเหยออกไป ภายในโคมไฟจะว่างเปล่าพร้อมที่จะเติมน้ำทะเลเพื่อชาร์จไฟใหม่อีกครั้ง ส่วนน้ำทะเลที่ใช้แล้วก็สามารถนำกลับมาใช้ซักล้างหรือทำความสะอาดได้ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ฉุกเฉินยังสามารถใช้ปัสสาวะในการชาร์จไฟได้อีกด้วย
ปิเป รูอิซ ปีเนดา ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท วันเดอร์แมน ธอมสัน โคลอมเบีย กล่าวว่า
“ด้วยการชาร์จเพียงครั้งเดียวโคมไฟนี้สามารถส่องแสงได้ประมาณ 45 วัน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของคุณ”
WaterLight ก็เหมือนโคมไฟโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก มันถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในตอนกลางคืนในสถานที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ และใช้แทนโคมไฟน้ำมันก๊าดแบบเดิม
แต่โคมไฟนี้แตกต่างจากโคมไฟโซลาร์เซลล์ตรงที่ WaterLight สามารถชาร์จไฟได้ทันทีที่เราเติมน้ำลงไป ในขณะที่โคมไฟโซลาร์เซลล์ต้องเปลี่ยนพลังงานโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานทางเลือก เพื่อชาร์จแบตเตอรี่และโคมไฟโซลาร์เซลล์ทำงานได้เต็มที่ในที่ที่มีแสงอาทิตย์เท่านั้น
เด็ก ๆ สามารถใช้โคมไฟนี้ในการเรียนได้ ช่างฝีมือก็สามารถใช้มันตอนทำงาน ที่คาบสมุทรกัวจิรา คนเผ่าวายูใช้โคมไฟนี้ตอนล่องเรือเพื่อออกไปตกปลาในตอนกลางคืน โคมไฟนี้ยังสามารถชาร์จโทรศัพท์หรือวิทยุเครื่องเล็ก ๆ ผ่านสายยูเอสบีได้ด้วย
การออกแบบของ WaterLight ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชนเผ่าวายู ในโคลอมเบีย ตัวโคมมีการตกแต่งด้วยสัญลักษณ์และลวดลายเก่าแก่ที่แกะสลักลงบนผิวไม้ สายคล้องโคมไฟก็ทำขึ้นมาโดยช่างฝีมือชาววายูที่ใช้วิธีการถักแบบดั้งเดิมตั้งแต่สมัยยุคก่อนการล่าอาณานิคม
โคมไฟมีคุณสมบัติกันน้ำและทำจากวัสดุรีไซเคิล มีอายุการใช้งานประมาณ 5,600 ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่าเวลาการใช้งานประมาณ 2-3 ปี นอกจากนี้ยังมีพอร์ต USB อีกด้านหนึ่งของหลอดไฟ ที่ปล่อยกระแสไฟให้โทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย
ผู้ออกแบบ WaterLight หวังว่าโคมไฟนี้จะช่วยให้ชุมชนที่ห่างไกล โดยเฉพาะชุมชนในประเทศซีเรีย ประเทศเซียร์ราลีโอน และประเทศโซมาเลีย ที่ไม่มีการกระจายไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึงแต่สามารถเข้าถึงชายฝั่งได้โดยตรง ใช้น้ำทะเลมาสร้างพลังงานที่ยั่งยืนแทนการต้องออกไปหาแหล่งพลังงานอื่น โดยไม่สิ้นเปลืองการใช้ไฟฟ้าที่มาจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน และนิวเคลียร์ นี่คือนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เข้าไม่ถึงระบบไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะถูกนำไปใช้งานได้อย่างแท้จริง และยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ขอบคุณที่มา https://www.facebook.com/