หน้าแรก

สวัสดีค่ะเพื่อนมิตรชาวไร่ ในยุคที่คนเริ่มใส่ใจสุขภาพ และหันมาพิถีพิถันกับอาหารการกินมากขึ้น ทุกคนสังเกตไหมคะว่า คนที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ มักจะเลือกลด “น้ำตาล” “ความหวาน” เข้ามาเป็นประเด็นหลักเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายด้านสุขภาพของตนเอง เพราะทุกคนเชื่อว่าหลายเมนูอาหารหรือเครื่องดื่มแก้วโปรด ต่างมีน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ทำให้หลายคนเลือกหันไปบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของ “สารทดแทนความหวาน” หรือ “เครื่องดื่มสูตรไดเอท” แทน

เมื่อกระแสของการเลือกบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารทดแทนความหวานเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นักวิจัยให้ความสนใจเกี่ยวกับประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริงของสารทดแทนความหวาน ไม่ผิดเลยใช่ไหมคะ ที่นักวิจัยจะคิดแบบนั้น เพราะอะไรที่มนุษย์กินหรือดื่มเข้าไป เป็นเรื่องที่ถูกต้องค่ะ ที่จะมีใครมาให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เราดื่มหรือกินเข้าไป เพื่อศึกษาถึงคุณค่าที่แท้จริงของอาหารนั้น

แน่นอนค่ะว่า สารทดแทนความหวาน คืออีกโจทย์ที่นักวิจัยให้ความสนใจ จะเห็นได้จากเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมามีผลงานวิจัยออกมาเปิดเผยว่า การบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานแต่เป็นสูตรไร้น้ำตาล หรือน้ำตาลน้อยเหล่านี้ กลับส่งผลเสียมากกว่าที่คิด เพราะสารนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองในคนเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่บริโภคสารทดแทนความหวานเลย

003.jpg

นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีผลการวิจัยออกมาอีกว่า สารทดแทนความหวานชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า แอสปาร์แตม ซึ่งมักพบในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และหมากฝรั่งปราศจากน้ำตาล อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย ทำให้ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้เผยแพร่แนวทางแนะนำไม่ให้ผู้บริโภคใช้สารทดแทนความหวานเพื่อควบคุมน้ำหนัก  และเตรียมขึ้นบัญชีสารนี้ให้กลายเป็นสารที่อาจก่อมะเร็งในมนุษย์ ในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้

สารทดแทนความหวาน คืออะไร ?

"สารทดแทนความหวาน" หรือ "น้ำตาลเทียม" (Artificial Sweeteners) เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเติมรสชาติหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มทดแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ซึ่งส่วนมากจะให้พลังงานหรือแคลอรี่ต่ำ หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีแคลอรี่เลย ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำตาลเทียม โดยมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ดังนี้

  • แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 180-200 เท่า
  • อะเซซัลเฟม-เค (Acesulfame-K) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 7,000-13,000 เท่า
  • นีโอแทม (Neotame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า
  • แซคคาริน (Saccharin) หรือขัณฑสกร ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200-700 เท่า
  • สตีเวีย (Stevia) หรือสารสกัดจากหญ้าหวานให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 280 – 300 เท่า
  • ซูคราโลส (Sucralose) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า

“แอสปาร์แตม” เป็นสารแทนความหวานที่มีรสชาติใกล้เคียงน้ำตาลมากที่สุด ดังนั้นจึงเป็นสารที่คนนิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุดนั่นเองค่ะ

น้ำตาลเทียมอันตรายอย่างไร ? น้ำตาลเทียมหรือสารแทนความหวานเหล่านี้อาจเชื่อมโยง 6 ปัญหาสุขภาพ ดังต่อไปนี้

  1. เพิ่มความอยากอาหาร งานวิจัยบางชิ้น แสดงให้เห็นว่าสารทดแทนความหวาน สามารถกระตุ้นสมองให้เกิดความอยากอาหารได้ โดยเฉพาะการบริโภคแอสปาร์แตม มีหลักฐานชี้ชัดว่าการกินเป็นประจำทำให้หิวและอยากกินของหวานเพิ่มขึ้น
  2. เพิ่มน้ำหนักตัว คนอาจคิดว่าสารทดแทนความหวานสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เพราะไม่มีแคลอรี เนื่องจากใช้ปริมาณเพียงนิดเดียว ก็สามารถให้ความหวานได้เหมือนกินน้ำตาลทรายหลายช้อนโต๊ะ แต่กลับมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่า การดื่มเครื่องดื่มสูตรไดเอทในระยะยาวกลับเพิ่มไขมันในร่างกายในผู้สูงอายุและเพิ่มค่าดัชนีมวลกายที่สูงขึ้นในเด็ก
  3. เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนลงพุง (metabolic syndrome) การวิจัยได้ค้นพบความเชื่อมโยงของการบริโภคสารทดแทนความหวานกับการพัฒนาของภาวะอ้วนลงพุง หรือ “metabolic syndrome” ที่เพิ่มความเสี่ยงหลายอย่างต่อปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ไขมันรอบเอว ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง คอเลสเตอรอล HDL ต่ำ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง
  4. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี แม้ว่าสารทดแทนความหวานจะไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอาจเพิ่มระดับอินซูลินในเลือด เนื่องจากรสหวาน ทำให้ตับอ่อนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำตาลได้ ส่งผลให้การใช้สารทดแทนความหวานในระยะยาวมีผลต่อภาวะการดื้อต่ออินซูลินในร่างกาย ดังนั้นแม้ว่าสารทดแทนความหวานจะไม่เพิ่มน้ำตาลในเลือดโดยตรง แต่ส่งผลกระทบต่อระดับการควบคุมน้ำตาลในเลือดของร่างกาย
  5. ไมโครไบโอมในลำไส้เปลี่ยนแปลง แบคทีเรียในลำไส้ทำปฏิกิริยากับสารทดแทนความหวานต่างไปจากน้ำตาลจริง ซึ่งค้นพบว่าสารสังเคราะห์เหล่านั้นจะเข้าไปเปลี่ยนไมโครไบโอมในลำไส้ และลดทอนความสมดุลของแบคทีเรียที่ดีออกไป จึงเป็นอันตรายต่อลำไส้ และอาจนำไปสู่ภาวะท้องอืด การทำให้สิ่งกีดขวางรอบลำไส้บางลง มีอาการไมเกรน เกิดสภาวะภูมิต้านตนเอง อารมณ์เปลี่ยนแปลง เกิดความหงุดหงิดหรือความวิตกกังวล
  6. เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่จัดทำโดยสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) รายงานว่า การบริโภคเครื่องดื่มผสมสารทดแทนความหวานบ่อย ๆ เพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ

หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าสารแทนความหวานเหล่านี้อันตราย แล้วทำไมคนจึงสามารถนำมาปรุงอาหารหรือใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มสำหรับบริโภคได้ คำตอบคือ เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีผลการวิจัยพบว่าสารแทนความหวานอิริทรินอล (Erythritol) นั้นปลอดภัย จนมีกฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ทั่วโลกในอาหารและเครื่องดื่ม

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ปราศจากน้ำตาลที่มีอิริทริทอล แนะนำให้กลุ่มผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือกลุ่มอ้วนลงพุง กินได้เพื่อแนวทางในการควบคุมน้ำตาลและปริมาณแคลอรี่เท่านั้น

ข้อมูลวิจัยถึงอันตรายของสารแทนความหวานหรือน้ำตาลเทียมข้างต้นนี้ เป็นข้อมูลที่อยากให้มิตรชาวไร่ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งได้พิจารณาและชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์และคุณค่าที่แท้จริงของสารเหล่านี้ ดังนั้นหากเรายังมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้ป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานอยู่แล้ว เราควรลด หลีกเลี่ยง และควบคุมปริมาณน้ำตาล ทานน้ำตาลแต่พอดีเพื่อการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก : 

https://www.bangkokhealth.com 

https://www.reuters.com/

https://www.pptvhd36.com/

https://aspartame.org/

ข่าวปักหมุด