หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ หลายคนคงรู้จัก ปุ๋ยอินทรีย์กากหม้อกรอง กันบ้างแล้วนะคะ วันนี้เรามี 7 ข้อดีของกากหม้อกรอง มาบอกเล่าเก้าสิบให้พี่น้องมิตรชาวไร่ได้อ่านกันค่ะ

ในกระบวนการผลิตน้ำตาล จะมีส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายชนิดหนึ่งคือ “กากหม้อกรอง” ส่วนประกอบของกากหม้อกรองจะแตกต่างกันไป ตามพื้นที่ปลูก พันธุ์อ้อย ประสิทธิภาพของเครื่องจักรและวิธีการกรอง แต่โดยทั่วไปกากหม้อกรองประกอบด้วย ไขและไขมัน 5-14% เยื่อใย 13-30% น้ำตาล 5-15% โปรตีน 5-15% เถ้า 9-20% กากหม้อกรองจะมีประมาณ 4 % ของปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ และมีความชื้น 70-75 % โดยน้ำหนัก

โดยทั่วไปชาวไร่อ้อยมักนำกากหม้อกรองไปใส่ในไร่อ้อยโดยตรง เพื่อช่วยปรับปรุงบำรุงดินและช่วยลดการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพราะกากหม้อกรองมีอินทรียวัตถุอยู่ 20% มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอยู่ 0.4 %, 0.4 % และ 0.02 % ตามลำดับ

แต่เนื่องจากกากหม้อกรองมีความชื้นสูงดังนั้นการขนส่งกากหม้อกรองจำนวน 1 ตันจะได้ น้ำหนักแห้งเพียง 250-300 กิโลกรัม จึงทำให้การขนส่งกากหม้อกรองให้มีปริมาณเพียงพอที่จะ ปรับปรุงดินต้องมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่หากเรานำกากหม้อกรองมาผ่านกระบวนการหมัก เพื่อเปลี่ยนกากหม้อกรองให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้ความชื้นของกากหม้อกรองลดลง จุลินทรีย์ จะช่วยย่อยอินทรีย์สารทำให้ปลดปล่อยปริมาณธาตุอาหารได้สูงขึ้น แต่กระบวนการหมักนี้จะต้อง มีออกซิเจนเพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์และเร่งให้หมักได้เร็วขึ้น จึงต้องมีการกลับกองปุ๋ยตลอด เวลาเพื่อให้อากาศถ่ายเทเป็นการเติมออกซิเจน

นอกจากนี้ในขั้นตอนการหมักยังสามารถเติม ธาตุอาหารพืช เช่นไนโตรเจนหรือฟอสฟอรัสเพื่อให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารพืชสูงสำหรับนำมา ใช้ทดแทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์บางส่วนในภาวะที่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มีราคาแพงเช่นปัจจุบัน

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กลุ่มมิตรผล จึงได้ทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากกากหม้อกรอง เพื่อนำมาในการปรับปรุงบำรุงดินในไร่อ้อยในพื้นที่ของไร่ด่านช้างและชาวไร่ข้างเคียง โดยใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง และนำเข้าเครื่องมือในการผลิตมาจาก ต่างประเทศ ทำให้สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้สูงถึง 10,000 ตันตั้งแต่ปีแรก

การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เองทำให้มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำจึงสามารถใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้ในปริมาณสูงถึง 4 ตัน/ไร่ ซึ่งจะ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของคุณภาพดินในไร่อ้อยอย่างชัดเจนในปีถัดไป

ปุ๋ยอินทรีย์กากหม้อกรองที่เราผลิตได้มีปริมาณ ธาตุอาหารครบทุกธาตุที่อ้อยต้องการ โดยมีปริมาณ ธาตุไนโตรเจนสูงกว่า 2% มีปริมาณธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียมประมาณ 1% และมีการย่อยสลาย สมบูรณ์โดยมีอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนต่ำกว่า 20:1 ซึ่งถือว่ามีคุณสมบัติที่ดีกว่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ที่กรมวิชาการเกษตร ปี 2548 กำหนดไว้

ดังนั้นเราจึงสามารถ นำปุ๋ยอินทรีย์กากหม้อกรองไปใส่ในไร่อ้อยได้โดยไม่เกิดผลกระทบต่ออ้อยและสิ่งแวดล้อม ปุ๋ยอินทรีย์เป็นแหล่งของอินทรียวัตถุ ซึ่งช่วยใน เรื่องการปรับปรุงคุณสมบัติดินทั้งทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ อันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงระดับความอุดม สมบูรณ์ของดิน ความสามารถในการให้ผลผลิตของดิน รวมทั้งการพัฒนาระบบนิเวศน์ของแต่ละสภาพแวดล้อมโดยตรง

7 ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์กากหม้อกรอง

  1. เป็นสารเชื่อมเม็ดดินให้รวมกันเป็นก้อน โดยจะเชื่อมเม็ดทรายกับอนุภาคของดิน เหนียวเข้าด้วยกันทำให้ดินร่วนซุยขึ้น ทำให้ดินเหนียวมีช่องว่างในดินมากขึ้นจึงเพิ่มความ สามารถในการระบายน้ำ การหมุนเวียนอากาศและการอุ้มน้ำมากขึ้น
  2. เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน อินทรียวัตถุมีพื้นที่สัมผัสมากกว่าดินเหนียวทุกชนิด จึงสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ถึงแม้ว่าฝนจะแล้งเป็นเวลานาน
  3. ช่วยลดอุณหภูมิของดิน เพิ่มความชื้นและลดการอัดตัวของดินโดยเฉพาะการใช้พืชคลุมดิน
  4. มีอิทธิพลต่อการควบคุมความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (pH) โดยดินที่มีอินทรียวัตถุสูงค่า pH จะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลง
  5. อินทรียวัตถุเพิ่มเติมธาตุอาหารสำหรับพืช นอกจากสลายตัวให้ธาตุอาหารหลายชนิดแก่ดินแล้ว ยังช่วยปลดปล่อยธาตุอาหารบางชนิดที่ถูกดินยึดไว้ออกมาเป็นประโยชน์ต่อพืช โดยขณะสลายตัวจะให้กรดอินทรีย์ออกมา
  6. ควบคุมความเป็นพิษของธาตุอาหารในดิน ตามปกติดินที่มี pH ต่าง ๆ ธาตุอลูมินัมและธาตุเหล็กละลายออกมาในปริมาณสูงจนเป็นพิษต่อพืช การเพิ่มเติมอินทรียวัตถุลงไป ในดินจะปลดปล่อยสารบางชนิดออกมาควบคุมความเป็นพิษของธาตุทั้งสองชนิด
  7. อิทธิพลต่อจุลินทรีย์เพราะเป็นแหล่งอาหารและพลังงานต่อสิ่งมีชีวิตในดิน และเมื่อสิ่งมีชีวิตในดินมีการเจริญเติบโตอย่างปกติแล้ว ทำให้กิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดินดำเนิน ไปอย่างปกติ

การใช้ปุ๋ยอินทรีย์กากหม้อกรองเพื่อบำรุงดินและ ทดแทนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในใร่อ้อยเป็นการลงทุนสร้าง ชีวิตใหม่ให้ผืนดิน ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดีงามต่อ ชาวไร่อ้อยและสภาพแวดล้อมในชุมชนชาวไร่อย่างยั่งยืน

ข่าวปักหมุด