หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ จะสังเกตเห็นว่า ช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นเดือนที่คาดการณ์ว่าสภาพอากาศของประเทศไทยจะหนาวเย็นตั้งแต่ต้นปี แต่ผลปรากฎว่า อากาศเพิ่งจะมาเริ่มเย็นในช่วงเกือบสิ้นปี เป็นลักษณะเย็นสั้น ๆ กลางวันร้อน ยังโชคดีที่เดือนมกราคมยังคงมีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่องหลายวัน

อย่างไรก็ดีสภาพอากาศที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย เรียกว่า “สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว” หรือ Weather whiplash ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ยากต่อการคาดการณ์ ประชาชนจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกปี

มิตรชาวไร่เอง ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาน้ำฝนจากธรรมชาติ เพื่อทำให้ผลผลิตอ้อยเจริญเติบโตได้ตามเป้าหมาย ต้องไม่นิ่งนอนใจต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากข่าวที่เราเห็นกันมาบ้าง เช่น วิกฤตน้ำท่วมสเปน น้ำท่วมตะวันออกกลาง ล่าสุดไฟป่าลอสแองเจลิสในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นลง แต่มีความรุนแรงมากขึ้น เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นการเตือนจากธรรมชาติก็ได้

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ขอแชร์ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว มาเล่าสู่พี่น้องมิตรชาวไร่ ดังนี้ค่ะ

สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้ว หรือ Weather whiplash เป็นเหตุการณ์ที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากร้อน แล้ง ไปสู่การมีฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง หรือเปลี่ยนแปลงในทางกลับกันจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ไปสู่ความแห้งแล้ง ในระยะเวลาจำกัด ซึ่งยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกปี ไม่ว่าจะเกิด หรือไม่เกิดสภาพอากาศแปรปรวนแบบ El Nino หรือ La Nina ทั้งนี้เนื่องจากอุณหภูมิโลกที่ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง (ปี 2566 สูงที่สุดตั้งแต่มีการจดบันทึก) ทำให้อัตราการระเหยมากขึ้น ความชื้นสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ (โดยทฤษฎี ทุกๆ 1oC ที่อุณหภูมิสูงขึ้น จะมีน้ำระเหยสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น 7%) เมื่อโลกเสียสมดุลวัฏจักรน้ำ ย่อมเกิดเหตุการณ์วิกฤตตามมา ?

สภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก (น้ำท่วมสเปน บริเวณภูมิภาคตะวันออกกลางหลายประเทศที่เป็นทะเลทราย และล่าสุดไฟป่าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งความหนาวเย็นทั่วโลก) รวมทั้งประเทศไทยต้นปี 2566 เผชิญกับความร้อน แล้งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรง (GDP ภาคเกษตรกรรมติดลบ 6.4%) ต่อมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงปลายปีกลับเกิดฝนตกหนักในรอบกว่า 100-1,000 ปี ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรง สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คน ?

มีการประเมินสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วในอนาคตว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 170 % มีช่วงเวลาที่สั้นลง และมีความรุนแรงมากขึ้น (ดูรูปประกอบ) โดยเฉพาะไทยเป็นหนึ่งในประเทศจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง (เฉดสีแดงเข้ม)

การเปลี่ยนแปลงอากาศสุดขั้ว_1.jpg

 

การเปลี่ยนแปลงอากาศสุดขั้ว_2.jpg

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วนจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

1) การประเมินความเสี่ยง และความรุนแรงจากสภาพอากาศเหวี่ยงสุดขั้วรายละเอียดเชิงพื้นที่
2) การสร้างความเข้าใจ และความตระหนักต่อความเสี่ยง และระดับความรุนแรงเชิงพื้นที่
3) การพัฒนาแผนงาน ฯ โครงการฯป้องกันลดผลกระทบ และการปรับตัว
4) การออกแบบ และประเมินราคาแผนงาน และโครงการฯ
5) การจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน และบรรจุแผนงานฯเพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ
6) การติดตาม ประเมินสถานการณ์เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการ

ปัจจุบันทีมกู้วิกฤตน้ำ มูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยความร่วมมือภาคเอกชนหลายแห่ง กำลังดำเนินตามภารกิจเร่งด่วนในหลายพื้นที่

ในฐานะเกษตรกรที่ต้องพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ต้องการฝนจากฟ้า เพื่อเลี้ยงอ้อยให้เติบโตอย่างสมบูรณ์ เราชาวไร่จึงต้องวางแผนการทำไร่อ้อยให้รัดกุม และติดตามข่าวสารเรื่องสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงสุดเหวี่ยงในอนาคต

ที่มาข้อมูลและภาพ

https://mgronline.com/

ข่าวปักหมุด