สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่าน ในการเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานต้องเตรียมทั้งแรงงาน เครื่องมือเครื่องจักร ให้พร้อมสำหรับการทำงาน และควรสำรวจแปลงก่อนลงมือเก็บเกี่ยว ในส่วนของนโยบายภาครัฐ ก็ยังมีการส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสดเข้าหีบอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดยังมีการวางแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าชีวมวล นับว่าเป็นโอกาสดีของมิตรชาวไร่เรา ที่เก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ที่จะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายใบอ้อยเพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล
สำหรับเชื้อเพลิงเสริมของโรงงานไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล ในแต่ละปีมีความต้องการประมาณ 1.20-1.50 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณและมูลค่ามหาศาล เชื้อเพลิงเสริมที่มีมากและใกล้ตัวมิตรชาวไร่ที่สุดก็คือ "ใบอ้อย" นั่นเองค่ะ โดยเฉพาะใบอ้อยที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวโดยรถตัดอ้อยนั้นจะถูกย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทิ้งอยู่ในแปลงอ้อย
มิตรชาวไร่ทราบไหมคะว่า ใบอ้อยที่แห้งแล้วจะมีปริมาณกว่า 1.50-2.00 ตัน/ไร่ เมื่อเก็บรวบรวมส่งขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจะมีรายได้กว่า 900 บาท/ตัน หรือ สร้างรายได้กว่า 1,350 บาท/ไร่ สาเหตุที่ใบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงเสริมทางเลือกเป็นอันดับแรกเนื่องจากหาได้ง่าย แหล่งเชื้อเพลิงอยู่ใกล้โรงงานและให้ค่าพลังงานความร้อน หรือ Gross Calorific Value (GCV) กว่า 12,200 KJ/KG เทียบกับชานอ้อยที่เป็นเชื้อเพลิงหลักได้สบาย ๆ
แต่โจทย์ใหญ่ก็คือ มิตรผลมีพื้นที่ส่งเสริมอ้อยกว่า 2 ล้านไร่ จะจัดการกับใบอ้อยที่ทิ้งอยู่ในแปลงอ้อยได้อย่างไร จึงจะเปลี่ยนจาก Waste to Value จึงขอแนะนำพระเอกของเราซึ่งก็คือ เครื่องอัดใบอ้อยหรือ Balers ที่เป็นเครื่องจักรที่จะเข้ามาช่วยให้มิตรชาวไร่สามารถนำใบอ้อยที่อยู่ในแปลงมาอัดเป็นก้อน เพื่อส่งขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
เครื่องอัดใบอ้อยที่มิตรชาวไร่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้นมีหลายยี่ห้อ หลายขนาด การเลือกใช้นั้นขึ้นอยู่กับขนาดรถแทรกเตอร์ต้นกำลังที่ใช้ต่อพ่วง ปริมาณพื้นที่อ้อย และความพร้อมของมิตรชาวไร่ จึงขอแนะนำเครื่องอัดใบอ้อยที่มิตรชาวไร่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจให้กับมิตรชาวไร่ที่วางแผนจะมีเครื่องอัดใบอ้อยเป็นของตัวเอง
ใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 50-80 แรงม้า เป็นต้นกำลังในการต่อพ่วง การทำงานของเครื่องจะอัดใบอ้อยแบบม้วนกลมขนาดก้อน กว้าง 1.20 เมตร สูง 0.90-1.80 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม/ก้อน เหมาะสำหรับมิตรชาวไร่ที่มีพื้นที่ประมาณ 500-600 ไร่ ความสามารถในการในการทำงาน 8-10 ตัน/วัน หรือ 800-1,000 ตัน/ปี ข้อดีคือ ตัวเครื่องมีราคาถูก ต้นทุนค่าเชือกต่ำ ต้นทุนการอัดใบอ้อยต่อตันต่ำ การบำรุงรักษาง่าย ส่วนข้อเสียคือ ความสามารถในการทำงานน้อย น้ำหนักบรรทุกในการขนส่งต่อเที่ยวน้อย ช่วยให้มิตรชาวไร่ตัดสินใจในการจัดการไร่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 50-80 แรงม้า เป็นต้นกำลังในการต่อพ่วง การทำงานของเครื่องจะอัดใบอ้อยแบบก้อนสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ขนาดก้อน กว้าง 0.46 เมตร ยาว 1.00-1.30 เมตร สูง 0.36 เมตร น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม/ก้อน เหมาะสำหรับมิตรชาวไร่ที่มีพื้นที่ประมาณ 500-600 ไร่ ความสามารถในการในการทำงาน 8-10 ตัน/วัน หรือ 800-1,000 ตัน/ปี ข้อดีคือ ตัวเครื่องมีราคาถูก ต้นทุนการอัดใบอ้อยต่อตันต่ำ การบำรุงรักษาง่าย อัดก้อนใบอ้อยได้โดยไม่ต้องเกลี่ยรวมกอง ส่วนข้อเสียคือ ความสามารถในการทำงานน้อย ก้อนใบอ้อยมีขนาดเล็ก การขนส่งมีความยุ่งยาก น้ำหนักบรรทุกในการขนส่งต่อเที่ยวน้อย
ใช้รถแทรกเตอร์ขนาด 140-150 แรงม้า เป็นต้นกำลังในการต่อพ่วง การทำงานของเครื่องจะอัดใบอ้อยแบบก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ขนาดก้อน กว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.50-3.00 เมตร สูง 0.70 เมตร น้ำหนักประมาณ 350 กิโลกรัม/ก้อน เหมาะสำหรับมิตรชาวไร่ที่มีพื้นที่ประมาณ 2,000-3,000 ไร่ ความสามารถในการในการทำงาน 30-50 ตัน/วัน หรือ 3,000-4,000 ตัน/ปี ข้อดีคือ อัดใบอ้อยได้อย่างรวดเร็ว ก้อนใบอ้อยมีขนาดใหญ่ น้ำหนักต่อก้อนสูง น้ำหนักบรรทุกในการขนส่งต่อเที่ยวสูง ส่วนข้อเสียคือ ตัวเครื่องมีราคาแพง ต้นทุนการอัดใบอ้อยต่อตันสูง การซ่อมบำรุงยากเนื่องจากระบบการทำงานมีความซับซ้อนสูง
เครื่องอัดใบอ้อย 3 แบบ ที่ได้อธิบายในรายละเอียดนั้น ต่างก็มีข้อดี ข้อเสีย และราคาที่แตกต่างกันดังนั้น มิตรชาวไร่ที่วางแผนจะมีเครื่องอัดใบอ้อยเป็นของตัวเอง จึงต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่ที่แน่ ๆ โรงงานไฟฟ้าชีวมวลของมิตรผลก็ยังคงรับซื้อใบอ้อยต่อไปในทุก ๆ ปี การตัดอ้อยสดนอกจากจะตามเทรนด์รักษ์โลกได้ทันแล้ว การอัดก้อนใบอ้อยเพื่อขายให้กับโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ยังช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋าของมิตรชาวไร่ อัดใบอ้อยขายในฤดูหีบอ้อยปีนี้เริ่มก่อนได้เปรียบแน่นอนค่ะ
ที่มาข้อมูล : วารสารมิตรชาวไร่