- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- อา., 18 ก.ค. 64
แนวทางที่พิสูจน์แล้วว่าสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้จริงในอาชีพชาวไร่อ้อย โดยผ่านการรับรองมาตรฐาน BONSUCRO ที่คนในวงการอ้อยทั่วโลกยอมรับ หากแต่การเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่เหล่านี้ไปสู่มิตรชาวไร่ได้จะต้องอาศัย "คนกลาง" อย่างบุรุษชุดเขียว IRONMAN ทำหน้าที่บุกไปนำพาความยั่งยืนนี้ไปหามิตรชาวไร่ โดยเฉพาะ IRONMAN รุ่นใหญ่ทีชื่อ "เบนจามิน โคตรภูเวียง" ที่ถ่ายทอดเทคนิคใหม่ ๆ มาแล้วอย่างโชกโชน
"จากที่ผมได้ไปดูการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ที่เมืองนอกมา เห็นได้ชัดเลยว่าเขามีกระบวนการคิดที่มองภาพรวมให้ออกก่อนว่า พื้นที่ตรงนี้จะปลูกอ้อยอย่างไร ตรงไหนคือระบบชลประทานที่คอยสนับสนุนบ้าง ปลูกเสร็จแล้วตัดอ้อยกันยังไง ตัดเสร็จแล้วใช้วิธีไหนขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน เขาคิดมาเสร็จก่อนที่จะลงมือปลูกอ้อยเลยนะ ต่างจากบ้านเรา เราคุ้นเคยกับการทำเกษตรกรรมแบบเดิม ปลูกยังไงก็ขึ้น ขึ้นแล้วค่อยคิดว่าทำยังไงต่อ"
เบนจามิน เริ่มเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปเห็นมาจากเมืองนอกตอนเข้าร่วมโครงการ Talent Ability เป็นเวลากว่า 3 เดือนที่ประเทศออสเตรเลียให้เราฟังว่าปัจจุบันการทำเกษตรสมัยใหม่ได้พัฒนาไปไกลแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทยต้องพัฒนาเพื่อตามโลกให้ทัน
"เวลาปลูกอ้อยเขาคิดเผื่อการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พื้นที่ปลูกอ้อยของที่นั่นเลยทำเป็นแปลงขนาดใหญ่ แต่ละแปลงมีความยาว 200 เมตร ขึ้นไป ความกว้างระหว่างแปลงก็พอเหมาะสำหรับรถตัดอ้อยทำงานได้สะดวก พอตัดอ้อยเสร็จมีรถบิน (Bin) มารับแล้วส่งต่อขึ้นรางรถไฟเข้าโรงงาน ไม่ต้องมาวิ่งบนถนนแบบบ้านเรา"
การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ที่ต่างประเทศ เน้นการทำไร่อ้อยเชิงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วยังไม่สามารถทำได้เช่นนั้น เพราะยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงเป็นการบ้านของศิษย์เก่าคณะ เกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างเบนจามิน ที่ต้องนำความรู้ทั้งแบบเก่าและแบบใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากัน ก่อนจะนำออกเผยแพร่ให้มิตรชาวไร่ได้ใช้กัน
"ที่บ้านเราให้มีรางรถไฟขนอ้อยแบบนั้นเป็นไปได้ยากนะ คือ หยิบเอาหลักการของเขามาปรับใช้ เขาใช้รางเพื่ออะไร เพื่อลดเวลาในการขนถ่ายอ้อยเข้าโรงงาน เราก็มาประยุกต์เป็นรถบิน รถเซมิเทรลเลอร์ ใช้หัวลากเป็นเหมือนหัวรถจักรรถไฟ เอาอ้อยไปส่งที่โรงงานแล้วเซมิเทรลเลอร์ก็วนกลับมาใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาไปจอดรอหน้าโรงงานเหมือนแต่ก่อน รถบินก็ช่วยเรื่องน้ำหนักไม่ให้กดทับแปลงอ้อย แต่ก่อนอื่นเลยเราต้องมีการวางแผนเรื่องการคุมแนววิ่งของรถก่อน จึงเป็นเหตุว่าทำไมต้องขึ้นเบด ทำไมต้องใช้ระยะห่างระหว่างร่องปลูกที่ 1.85 เมตร เพราะถ้าเราเตรียมพร้อมตั้งแต่ต้น ตอนตัดอ้อยก็ทำงานได้ง่ายขึ้นเยอะ"
ช่วงแรก ๆ มิตรชาวไร่ที่สนใจเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเป็นชาวไร่ที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ แต่หลัง ๆ เริ่มมีชาวไร่ขนาดเล็กสนใจลองเปลี่ยนบ้าง แต่ติดเรื่องต้นทุนและปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ซึ่งไอรอนแมนของเราแก้ไขด้วยการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกร ตามแบบหนองแซงโมเดล ที่ให้ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกในบริเวณใกล้เคียงกัน แบ่งกันใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่มีราคาแพง อย่าง รถตัดอ้อย รถบิน และรถบรรทุกอ้อย โดยหนองแซงโมเดลนี้ นำไปสู่การพัฒนารูปแบบการรวมกลุ่มชาวไร่ขนาดเล็กและกลางกลุ่มอื่น ๆ ขยายออกไปอีก
"เราสนับสนุนให้ชาวไร่ใช้รถตัดอ้อย ประโยชน์หลัก ๆ เลยก็คือ ทดแทนแรงงานคนที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ สองคือ ตัดอ้อยสดทิ้งใบคลุมดินเป็นธาตุอาหารให้กับอ้อยรุ่นต่อไป ชาวไร่อ้อยที่ใช้รถตัดก็สะดวกเพราะโรงงานเรามีโรงบีที่รับเฉพาะอ้อยรถตัดเท่านั้น ไม่ต้องไปต่อคิวรวม ความหวานก็ไม่หาย น้ำหนักก็ไม่ลด เขาเลยอยากใช้รถตัดกันมากขึ้น"
แต่ใช่ว่าชาวไร่อ้อยทุกคนจะเปลี่ยนมาตัดอ้อยสดกันได้ อุปสรรคที่เบนจามินต้องเจอส่วนใหญ่ คือ เรื่องค่าแรงล่วงหน้าที่จ่ายให้กับคนตัดอ้อยไปก่อนแล้ว ทำให้ยังต้องใช้แรงงานคนตัดอ้อย ซึ่งบางแปลงก็กลายเป็นอ้อยไฟไหม้อย่างน่าเสียดาย เพราะตัดอ้อยไม่ทัน โดยเบนจามินบอกว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยน เริ่มทีละน้อย เริ่มจากโยกแรงงานให้ไปตัดแปลงเล็ก ๆ ส่วนแปลงใหญ่ที่เหมาะกับรถตัดก็ให้รถตัดอ้อยทำงาน กว่าจะเปลี่ยนได้อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ซึ่งก็ไม่นานเกินรอ
"ถามว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนมาทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม คำตอบท้ายที่สุดคือกำไรจะเพิ่มขึ้น แม้ตอนเริ่มต้นการลงทุนอาจจะสูง แต่นอกจากกำไรที่ได้แล้วยังช่วยแก้ไขเรื่องการขาดแคลนแรงงานในอนาคต การเปลี่ยนตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลในวันสองวัน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยจากนี้ ยิ่งทำ ยิ่งแย่ ลูกหลานในอนาคตใครจะอยากมาทำไร่อ้อยต่อจากเราไหม การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ทำแล้วสะดวกสบายมีกำไรมากขึ้น เชื่อเลยว่าทายาทจะมาต่อยอดอาชีพของเราเป็นการทำไร่อ้อยอย่างยั่งยืนได้แน่นอน" เบนจามินกล่าวทิ้งท้าย