นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานอ้อย กลุ่มมิตรผล เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทางกลุ่มมิตรผลได้ร่วมกับบริษัท โรงงานแม่รวย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถั่วลิสงกรอบเคลือบกะทิ ภายใต้แบรนด์ "โก๋แก่" เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตถั่วลิสงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว และการดูแลรักษาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ถั่วลิสงที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารอะฟลาทอกซิน พร้อมส่งเป็นวัตถุดิบเข้าโรงงานแปรรูป หลังจากนั้นจะเตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวไร่อ้อยในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ไปปลูกเสริมหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยระหว่าง 4-5 เดือน เนื่องจากมีตลาดรองรับชัดเจน เพราะทางบริษัท โรงงานแม่รวยกำลังขาดแคลนวัตถุดิบถั่วลิสงอย่างมาก
"ก่อนหน้านี้ มิตรผลให้นโยบายชาวไร่อ้อยไปปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน แรก ๆ ให้ปลูกถั่วเหลืองอย่างเดียวสลับกับการปลูกอ้อย ตอนนี้เริ่มมองถั่วลิสง เพราะผลิตภัณฑ์ถั่วลิสงโก๋แก่ยังมีความต้องการผลผลิตมาก ขาดแคลนมาก เรากำลังดูว่าระหว่างที่เราพักดิน 4-5 เดือน เราปลูกในพื้นที่เรา ตอนนี้กำลังศึกษาร่วมกันอยู่ ถ้าทำได้ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ตอนนี้เรากำลังหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดเก็บ เรื่องอะฟลาทอกซินมาให้ความรู้ก่อน เก็บแล้วทำอย่างไรไม่ให้เกิดอะฟลาทอกซิน จะเริ่มทดลองแถวอีสาน เพราะอีสานปลูกอ้อยในช่วงฤดูหลังฝน อ้อยปลายฝน จะมีเวลาตั้งแต่เราปิดหีบอ้อยหลังสงกรานต์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเข้าสู่ฤดูฝน ก็สามารถปลูกถั่วได้ พอฝนหมดเก็บเกี่ยวพวกถั่ว ปลูกอ้อยตามเลย การปลูกพืชตระกูลถั่วจะมีปมดึงไนโตรเจนจากอากาศเข้ามาเก็บไว้ที่ดิน จะเป็นประโยชน์บำรุงให้พืชเขียว และงอกไว เป็นการตัดวงจรศัตรูพืชด้วย รวมถึงจะช่วยชาวไร่ในการทำตลาดอีกหลายสินค้าที่อยู่ระหว่างพัฒนา โดยจะผลิตและวางจำหน่ายลักษณะวิสาหกิจชุมชน สินค้าโอท็อปในอนาคต" นายบรรเทิงกล่าวและว่า
ขณะเดียวกัน มิตรผลได้เข้าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนิน "โครงการ 5 ประสานเกษตรทฤษฎีใหม่" ภายใต้นโยบายสานพลังประชารัฐ ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดยใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท โดยมิตรผลได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มที่มีความพร้อม จำนวน 292 ราย จากทั้งหมด 1,100 ราย ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เลย ตาก อำนาจเจริญ มาอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่กับปราชญ์ในพื้นที่ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมการผลิตในแปลง โดยการตั้งเป็นธนาคารปศุสัตว์และพันธุ์พืช เพื่อให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการแบ่งปันองค์ความรู้แก่เกษตรกรรายอื่น รวมถึงการช่วยหาตลาดให้
ล่าสุด มิตรผลได้จัดทำโครงการพิเศษที่จะขับเคลื่อนชาวไร่อ้อยรายเล็ก เรื่องการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ มีโครงการนำร่อง 70 ศูนย์ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะขยายไปถึง 700 ศูนย์ ในปี 2561 และครบ 7,000 ศูนย์ในอนาคต ภายใต้ชื่อ "โครงการทำตามพ่อ ปลูก เพ(ร)าะ สุข" โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชาวไร่อ้อย ขยายวงกว้างให้มีการทำเกษตรผสมผสานในครัวเรือน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือน ซึ่งเป็นแนวทางสร้างสุขให้ชาวไร่ได้อย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมกับชาวไร่ในเครือข่ายให้ได้มากที่สุด และในเดือนพฤศจิกายน 2560 จะจัดตลาดนัดพิเศษนำร่องให้ชาวไร่อ้อยทุกจังหวัดที่อยู่ในโครงการ นำผลิตผลทางการเกษตรที่ปลูกได้ และแปรรูปมาวางจำหน่ายที่เซ็นทรัลเวิลด์
"การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การใช้แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ การรวมแปลง จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะการปลูกพืชผสมผสานเพิ่มรายได้ที่นอกจากพืชประธาน คือ อ้อย ที่ผ่านมาอาจจะเกิดอุปสรรค เพราะเกษตรกรอาจจะยังไม่เชื่อมั่น แต่เมื่อได้เห็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เห็นชาวไร่บางคนที่ประสบความสำเร็จจากสิ่งเหล่านี้ คนที่เหลือจะอยู่นิ่งแบบเดิมไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าต้องมีศูนย์เรียนรู้ ให้เกิดความเข้มแข็ง ให้ความรู้เรื่องดิน น้ำ ปศุสัตว์ พืชผล นอกจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ อ้อย"