หน้าแรก

เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลได้พัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อยทุกรูปแบบ โดยเน้น การสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็น สระน้ำในไร่อ้อย หรือบ่อบาดาลน้ำตื้น นั่นเพราะเรารู้ว่า อ้อยโรงงาน เป็นพืชที่ต้องมีแหล่งน้ำสำรอง ที่ต้องการน้ำตลอดทั้งปีประมาณ 1,500 มิลลิเมตร หรือประมาณ 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ มิตรชาวไร่ท่านใดที่ยังไม่ได้เตรียมการสำรองน้ำในหน้าแล้งที่จะถึงนี้ เรามีรูปแบบการพัฒนาระบบชลประทานขนาดเล็กในไร่อ้อย ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผลมาฝากดังนี้ค่ะ

  • การขุดสระเก็บน้ำเสริมฝน

    การขุดสระเก็บน้ำโดยทั่วไปมีลักษณะแบบการขุดเหวี่ยงขึ้นคันสระ มีชาญพักสระ และมีทางรับน้ำเข้า โดยควรขุดบริเวณที่ต่ำที่สุดของพื้นที่ มีความลาดเอียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้พื้นที่ทั้งไร่เป็นส่วนรับน้ำให้มีปริมาณน้ำฝนไหลเข้าสระเร็วขึ้น ส่วนวิธีการใช้น้ำ อาศัยต้นกำลังขนาดเล็ก เช่นปั๊มหอยโข่ง เครื่องสูบน้ำเบนซิน ในการสูบเพื่อส่งน้ำให้กระจายทั้งแปลง การขุดสระเก็บน้ำฝนส่วนใหญ่ใช้เพื่อเสริมจากน้ำฝนปกติ ขนาดของสระควรออกแบบให้มีปริมาณน้ำใช้ได้ 2-3 ครั้ง แบบ Supplement Irrigation ซึ่งควรมีรายละเอียดดังนี้

    สระเก็บน้ำควรมีพื้นที่รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 10 ไร่
    ความลึกไม่น้อยกว่า 3 เมตร
    ความลาดชันด้านข้าง 1 : 1.5
    สระเก็บน้ำขนาด 1,260 ลบ.ม.
    เทียบเท่าปริมาณน้ำฝน 750 มม.
    งบประมาณต่อสระ 25,200 บาท

  • การเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้น

    การขุดเจาะบ่อบาดาลไม่สามารถขุดเจาะได้ทุกที่ เนื่องจากปริมาณน้ำใต้ดินมีความแตกต่างทั้งเรื่องปริมาตรและคุณภาพของน้ำ น้ำใต้ดินที่เป็นน้ำบาดาลโดยส่วนใหญ่ต้องอยู่ลึกกว่า 20 เมตร อยู่ในโพรงใต้ชั้นหินหรือชั้นดินแข็ง และเขตภาคอีสานส่วนใหญ่ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย มีตั้งแต่ 2-20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง มีจำกัด จำเป็นต้องมีการให้น้ำแบบ Supplement Irrigation จำนวน 2-3 ครั้งเพื่อเสริมปริมาณน้ำฝนปกติ มีรายละเอียดบ่อบาดาลดังนี้

    บ่อบาดาลควรมีพื้นที่รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 15-30 ไร่
    บ่อบาดาลแบบเปิด ขนาด 5 นิ้ว
    ลงท่อกันทรุดระดับชั้นหินหรือดินแข็ง
    ปริมาณน้ำไหลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง
    ปริมาณน้ำบาดาล 6 ลบ.ม./ชม.
    งบประมาณต่อบ่อ 32,000 บาท
    การใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำบาดาล โดยส่วนใหญ่จะใช้ปั๊มหอยโข่ง ที่มีระยะดูดได้ไม่เกิน 6 เมตร และใช้ปั๊มน้ำบาดาล(Submersible Pump) หากระดับน้ำบาดาลลึกเกินกว่า 6 เมตร โดยใช้ไฟฟ้าทั่ว ๆ ไปหรือจากเครื่องปั่นไฟ

  • การให้น้ำในไร่ ด้วยระบบน้ำหยด

    ระบบการให้น้ำมีหลายประเภทแต่แบบที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดถึง 95 เปอร์เซ็นต์ คือการให้ระบบน้ำหยดในไร่ จากแหล่งน้ำต่าง ๆ เช่น สระน้ำ บ่อบาดาล แหล่งน้ำธรรมชาติ และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเป็นต้น โดยมีต้นทุนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวิธีการให้น้ำแบบอื่น ๆ ซึ่งในการใช้ในไร่ควรใช้แบบชุด Mobile เคลื่อนย้ายได้ ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ มีส่วนประกอบดังนี้

    สายน้ำหยด หนา 10 มิลลิเมตร ความยาว 6,000 เมตร
    ระยะห่างระหว่างหัวน้ำหยด 20-50 เซนติเมตร
    กรองตะแกรงหรือกรองดิส ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 ตัว
    อุปกรณ์ต่อท่อและซ่อมท่อ จำนวน 100 ตัว
    ท่อส่งน้ำ PVC ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 10 ท่อน
    มีค่าใช้จ่ายอัตรา 4,500 บาท/ไร่
    คิดเป็นจำนวนเงิน 22,500 บาท/ชุด
    มีอายุการใช้งาน 3 ปี สามารถใช้กับพืชได้เก็บทุกชนิด

ประเภทการใช้น้ำ แบบร่องคู่ ฉีดฝอย น้ำหยด
ประสิทธิภาพ 60% 80% 95%
ต้นทุนคงที่ ต่ำ กลาง สูง
ค่าปั๊มน้ำ ต่ำ สูง ต่ำ
แรงงาน สูง กลาง ต่ำ
วัชพืช ทั่วไป ทั่วไป ต่ำ
การให้ปุ๋ย ไม่มี สูง ผสมกับน้ำ
ผลของกระแสลม สูง ต่ำ ไม่มี
ความลาดชันแปลง ต่ำ ต่ำ กลาง
ความชำนาญในการจัดการ ปกติ ปกติ สูงกว่า
การควบคุมศัตรูพืช ต่ำ กลาง สูง

 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารูปแบบระบบชลประทานขนาดเล็กในไร่อ้อยที่นำเสนอในครั้งนี้ จะช่วยลดปัญหาน้ำไม่เพียงพอกับปริมาตรที่อ้อยต้องการในไร่อ้อยของมิตรชาวไร่ได้นะคะ

ข่าวปักหมุด