หน้าแรก

ปัจจุบันในหลาย ๆ อุตสาหกรรมมีการนำอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยทำให้การผลิตเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เซ็นเซอร์มาช่วยทำให้เกิดระบบอัจฉริยะที่สามารถประเมินผลและควบคุมตนเองได้ ด้วยการส่งและรับข้อมูลต่าง ๆ จากทุกสิ่งที่เชื่อมต่อเข้าหากัน ซึ่งที่ได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ IoT หรือ Internet of Things

ในอุตสาหกรรมเกษตรได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำในด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร เช่น ประเทศอิสราเอล เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ รวมถึงสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

มิตรชาวไร่อาจจะได้ยินเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ในชื่อต่าง ๆ เช่น สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) ฟาร์มอัจฉริยะ  (Intelligent Farming, Autonomous Farming) เกษตรกรรมความแม่นยำสูง (Precision Farming, Precision Agriculture) รวมไปถึง การบริหารจัดการนํ้า  (Water Resources Management)

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ ประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก ๆ ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเซ็นเซอร์ (ซึ่งถือเป็น Hardware) การจัดส่งและรับข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นแบบมีสาย (LAN) หรือไร้สาย (Wireless LAN) และการประเมินผลด้วยโปรแกรมหรือระบบงาน (Software or Application)  ซึ่งก็เป็น IoT อย่างหนึ่ง

เราจะขอกล่าวถึง เซ็นเซอร์เป็นหลัก ซึ่งเป็นบทบาทสำคัญที่ทาง ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง เซ็นเซอร์ที่ทางศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้วิจัยและพัฒนามา ได้แก่ เซนเซอร์ที่ใช้วัดความเข้มข้นของไอออนของสารเคมี (Ion Sensitive Field Effect Transistor) เซ็นเซอร์วัดความดัน (Pressure Sensor) เซ็นเซอร์วัดความชื้น (Humidity Sensor) เซ็นเซอร์ตามหาแสงอาทิตย์ (Solar Tracker Sensor) เป็นต้น  

ตัวอย่างการใช้งานของระบบเซ็นเซอร์ในไร่อ้อย

ฟาร์มอัจฉริยะในไร่อ้อย มีระบบท่อน้ำหยดใต้ดินที่มีการเฝ้าระวังแบบเรียลไทม์จะมีเซ็นเซอร์วัดความดันติดตั้งในท่อน้ำหยด เพื่อคอยตรวจสอบความสมบูรณ์ของท่อว่าไม่มีการรั่วไหลในท่อตั้งแต่ต้นทางจน ถึงปลายท่อ โดยมีการให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำหยดนี้ ซึ่งควบคุมระบบจ่ายน้ำและปุ๋ย ผ่านเซ็นเซอร์วัด N-P-K  ซึ่งถูกพัฒนาจากเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดความเข้มข้นของไอออนของสารเคมี ทำให้การใช้ทรัพยากรน้ำและสารเคมี (ปุ๋ย) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบเซ็นเซอร์ในไร่อ้อยอัจฉริยะ-004.jpg

การจ่ายน้ำนั้นยังต้องได้ข้อมูลจากสภาพความชื้นในอากาศและในดิน ผ่านการส่งข้อมูลจาก เซ็นเซอร์วัดความชื้น ที่ถูกติดตั้งเหนือดินและใต้ดิน ระบบฟาร์มอัจฉริยะนั้นได้รับพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์เซลล์ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับระบบสื่อสาร ระบบเซ็นเซอร์ ปั๊มน้ำและระบบกลไกต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อให้ประสิทธิผลในการรับแสงดีที่สุด เซ็นเซอร์ตามหาแสงอาทิตย์ถูกนำมาใช้ในการปรับทิศทางของ แผงโซล่าร์เซลล์ให้ได้รับแสงอาทิตย์มากที่สุดทั้งวัน

ในฐานะเกษตรกรอย่างเรา ตอนนี้คงต้องรับข่าวสารเทคโนโลยีเหล่านี้กันต่อไป จนกระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำมาจำหน่าย หรือแนะนำให้เกษตรกรใช้ได้อย่างแท้จริง คาดว่าอีกไม่นานระบบฟาร์มอัจฉริยะจะกระจายทั่วทุกพื้นที่เกษตรของประเทศไทยแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก http://tmec.nectec.or.th

ข่าวปักหมุด