หน้าแรก

เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวโด่งดังเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสนิปาห์ หรือโรคสมองอักเสบนิปาห์ จากประเทศอินเดีย จนทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 2 ราย เพียงเพราะกินผลไม้ที่เก็บจากไซต์งานก่อสร้างที่พวกเขาทำงานอยู่…

แค่กินผลไม้ทำไมถึงตาย?

ติดเชื้อมาจากไหน? ป้องกันยังไง? เรามีคำตอบให้ค่ะ

ไวรัสนิปาห์ (นิ-ปา) เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีรายงานพบการระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.2542 จากนั้นแพร่ระบาดมาที่ประเทศ สิงคโปร์ บังคลาเทศ และอินเดีย

ถึงแม้จะยังไม่เคยระบาดในประเทศไทย แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะประเทศเหล่านี้คือเพื่อนบ้านผู้ใกล้ชิดของเรา

สำหรับไวรัสนิปาห์ หรือโรคสมองอักเสบนิปาห์ เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์สู่คน ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงของระบบหายใจ สมองอักเสบและทำให้เสียชีวิตได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มียา หรือวัคซีนที่ใช้รักษาอาการติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น

กรมควบคุมโรค.jpg

การติดต่อและการระบาด

ตามธรรมชาติแล้วเชื้อไวรัสนิปาห์ อยู่ในร่างกายของค้างคาวกินผลไม้ซึ่งไม่แสดงอาการป่วย (คราวนี้แบทแมนเป็นผู้ร้ายซะแล้ว!!!) ส่วนสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่าง สุกร สุนัข แมว ม้า แพะ และแกะสามารถติดเชื้อไวรัสนิปาห์ จากการสัมผัส กินวัตถุปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ หรือน้ำลายของค้างคาว และเชื้อไวรัสนิปาห์ยังติดต่อกันได้โดยการสัมผัสหรือหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไปด้วย (พบการติดต่อลักษณะนี้ในสุกร) ส่วนคนจะติดเชื้อไวรัสนิปาห์ได้จากการสัมผัสสุกรที่ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด

อาการของโรคสมองอักเสบนิปาห์ในคน

ระยะแรก ๆ มักไม่ค่อยมีอาการ โดยเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์โดยเฉลี่ย อาการป่วยในระยะแรกจะคล้ายอาการของไข้หวัด มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ วิงเวียนศีรษะ ปอดบวม เดินเซ เซื่องซึม สับสน ชักเกร็ง ทั้งนี้อาการจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด​ ซึ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนิปาห์จะมีอัตราเสียชีวิตอยู่ราว ๆ ร้อยละ 40 – 50

การควบคุม และป้องกันการติดเชื้อไวรัสนิปาห์

สามารถทำได้โดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  1. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ หรือซากสัตว์ทุกชนิด
  2. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ เสมอ
  3. ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะผลไม้ที่มีร่องรอยการกัดแทะ
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่ไม่สะอาด หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนน้ำลายหรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้
  5. ชำระล้างเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ไอโอดีน เป็นต้น
  6. ห้ามรับประทานเนื้อค้างคาวโดยเด็ดขาด
  7. หากพบสัตว์ป่วยด้วยกลุ่มอาการไข้สมองอักเสบให้กำจัดสัตว์ที่ป่วยและสัตว์ร่วมฝูง และทำลายซากด้วยการเผาหรือฝัง โดยห้ามเคลื่อนย้ายซากสัตว์ออกจากจุดเกิดโรคในรัศมี 2 กิโลเมตร จากนั้นควรแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบโดยด่วน

หากสงสัยว่าเกิดการระบาดของโรคสมองอักเสบนิปาห์

กรณีสัตว์ : แจ้งสัตวแพทย์ทันที

กรณีคน : พบแพทย์ทันที

แม้ตอนนี้ ไวรัสนิปาห์ยังไม่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย แต่เราทุกคนก็ควรป้องกันตัวเองให้ห่างจากเชื้อไวรัสดีกว่า กันไว้ดีกว่าแก้ เดี๋ยวแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน!

ข้อมูลจาก

http://www.cfsph.iastate.edu/FastFacts/th/nipah.pdf

https://health.kapook.com/view194312.html

ภาพประกอบ : www.organicbook.com

 

ข่าวปักหมุด